กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--EXIM BANK
นายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของปี 2549 EXIM BANK มีกำไรสุทธิจำนวน 103 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับกำไรสุทธิ 153 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้น 49 ล้านบาท และกำไรก่อนสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้น 49 ล้านบาทด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1 ของปี 2549 EXIM BANK ยังคงมีค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญและขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้รวม 286 ล้านบาท เทียบกับ 187 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สำหรับสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 มีจำนวน 69,986 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก 70,499 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 ยอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 มีจำนวน 60,851 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 60,327 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 โดยสินเชื่อในประเทศที่เป็นสกุลเงินบาทยังเพิ่มขึ้นในอัตราที่น่าพอใจ แต่สินเชื่อที่เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าลดลง เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลงจาก 41.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อสิ้นปี 2548 เป็น 38.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อสิ้นไตรมาส 1 ปี 2549 ในขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) เท่ากับ 6,785 ล้านบาทหรือร้อยละ 11.2 ของยอดเงินให้สินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ 6,420 ล้านบาทหรือร้อยละ 10.6 ณ สิ้นปี 2548 สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2549 เท่ากับร้อยละ 15.5
กรรมการผู้จัดการได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำรองหนี้สูญจำนวนที่ค่อนข้างสูงดังกล่าวเป็นผลมาจาก NPLs เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2548 และต่อเนื่องในไตรมาสนี้ แต่เชื่อมั่นว่าภาระสำรองหนี้สูญในไตรมาส 2 ควรจะดีขึ้น สำหรับสินเชื่อตามนโยบายที่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลตามมาตรา 23 ไม่มีรายการใดที่จัดเป็นหนี้มีปัญหา
ในไตรมาส 1 ของปี 2549 EXIM BANK ได้ดำเนินการเพื่อผลักดันแผนการสนับสนุนการส่งออกและการลงทุนไทยในต่างประเทศซึ่งมีความคืบหน้าหลายโครงการ อาทิ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ส่งออกในอุตสาหกรรมกุ้งแช่เย็นแช่แข็งของไทย โดย EXIM BANK ออกหนังสือค้ำประกัน (Standby L/C) ให้แก่ผู้ส่งออกเพื่อใช้ในการวาง Continuous Bond ให้กับกรมศุลกากรของสหรัฐอเมริกาสำหรับค่าภาษีนำเข้ากุ้งแช่เย็นแช่แข็งของสหรัฐอเมริกา และเพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนน้ำมันในอนาคต EXIM BANK ได้อนุมัติสินเชื่อให้แก่โครงการผลิตเอทานอลจำนวน 2 ราย รวมเป็นวงเงิน 2,184 ล้านบาท
กรรมการผู้จัดการได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานผลักดันให้เกิดตราสารหนี้แห่งเอเชีย (Asian Bond) ว่า EXIM BANK จะดำเนินการเกี่ยวกับการออกพันธบัตรใน 2 รูปแบบควบคู่กัน รูปแบบแรกเป็นพันธบัตรสกุลเงินบาทอายุ 5 ปีซึ่งออกในนามของธนาคารเองในวงเงิน 3,200 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปปล่อยกู้ให้แก่โครงการในประเทศเพื่อนบ้าน โดยพันธบัตรดังกล่าวได้ขายหมดแล้วที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.95 โดยออกพันธบัตรในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 ส่วนรูปแบบที่สองอยู่ในระหว่างดำเนินการ โดย EXIM BANK ช่วยสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ออกพันธบัตรเอง ซึ่งโครงการแรกเป็นการสนับสนุนให้การไฟฟ้าลาวออกพันธบัตรสกุลเงินบาทเพื่อนำเงินไปใช้ในโครงการไฟฟ้าของลาวในวงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท และพันธบัตรดังกล่าวจะจำหน่ายให้แก่นักลงทุนประเภทสถาบันในไทย โดยมี EXIM BANK เป็นผู้ค้ำประกัน
เกี่ยวกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2536 ซึ่งกำหนดขอบเขตอำนาจให้ธนาคารสามารถทำธุรกิจทุกประเภทที่ธนาคารพาณิชย์ทำได้ ยกเว้นเพียงการรับฝากเงินจากประชาชนทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการทางการเงินเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทยและนักลงทุนไทยในต่างประเทศ และสนับสนุนการได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศของไทยหรือประหยัดเงินตราต่างประเทศ
ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร
โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1140-6
- ๒๗ พ.ย. EXIM BANK ร่วมประชุมประจำปีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในเอเชีย ครั้งที่ 29 สานพลังองค์กรพันธมิตรส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ
- ๒๘ พ.ย. EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.25% ต่อปี คงเหลือ 6.35% ต่อปี ต่ำที่สุดในระบบ บรรเทาภาระผู้ประกอบการกลุ่มเปราะบางและ SMEs
- ๒๗ พ.ย. EXIM BANK พบปะทวิภาคีองค์กรรับประกันระดับโลก สนับสนุนผู้ประกอบการไทยบริหารความเสี่ยงขยายธุรกิจส่งออกและลงทุนระหว่างประเทศ