กรุงเทพฯ--29 ส.ค.--สวทช.
6 แบงค์ชั้นนำ ร่วมปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3-4 แก่โรงงานแป้งมันฯ หนุนนโยบายรัฐฯ ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน (CD)
นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ พร้อมด้วยธนาคารพาณิชย์อีก 5 แห่ง ประกอบด้วย ธ.ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) , ธ.กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) , ธ.ทหารไทย จำกัด(มหาชน) , ธ.นครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) และ ธ.ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์(ไทย) จำกัด(มหาชน) ได้เข้าร่วมในการจัดทำโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ(พิเศษ) เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสีย และผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่ยังไม่มีระบบผลิตก๊าซชีวภาพทั่วประเทศ รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 1,290 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขเงินกู้พิเศษอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 3-4 ต่อปี มีระยะเวลาเงินกู้ 4-6 ปี โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้เงินต้นในช่วง 1 ปีแรก ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือภายใต้โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมภาคเอกชน(Company Directed Technology Develoment Program : CD ) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
โดยลักษณะของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในโครงการดังกล่าว ทางโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังจะเป็นผู้ลงทุนในอัตราส่วนร้อยละ 25 ของงบประมาณโครงการทั้งหมด ที่เหลือเป็นเงินกู้ที่โครงการCD และธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่ง ร่วมกันปล่อยกู้ให้ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 โดยมีวงเงินกู้สูงสุด 30 ล้านบาท และไม่เกินร้อยละ 75 ของงบประมาณโครงการ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับครึ่งหนึ่งของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน บวกด้วย 1.125 มีระยะเวลาโครงการ 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 — 30 กันยายน 2551 โดยจะเริ่มเปิดรับสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2550
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า “ สำหรับเงินที่นำมาปล่อยกู้ในโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนี้ เป็นเงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก 2 แหล่ง คือ เงินงบประมาณจากรัฐบาล โดยผ่านโครงการCD ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. และเงินสมทบจากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 6 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารทั้ง 6 แห่ง และ สวทช. ได้มีความร่วมมือกันมายาวนานในเรื่องของการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ภาคเอกชนที่ต้องการทำวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี หรือ การนำผลงานการค้นคว้าวิจัยพัฒนาที่มีอยู่แล้วจากมหาวิทยาลัย องค์กร หรือ สถาบันทางวิชาการต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างจริงจัง ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การจัดทำห้องปฏิบัติการณ์หรือห้องแล็บ เพื่อการวิจัย วิเคราะห์ ทดสอบผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ ฉะนั้น ในการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ จึงมีความยินดีอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและจูงใจให้โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง หันมาเร่งดำเนินการนำระบบดังกล่าวไปใช้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ และช่วยให้ประเทศลดการนำเข้าน้ำมันเตาจากต่างประเทศปีละหลายพันล้านบาทแล้ว ยังเป็นการแก้ปัญหาเรื่องของมลภาวะน้ำเสีย และกลิ่นได้เป็นอย่างดี แต่ท้ายที่สุด ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือโรงงานฯ นั่นเอง ”
สำหรับผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่งที่เข้าร่วมในการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เอกชนไทยในการพัฒนาเทคโนโลยี ได้ร่วมกับ สวทช. อนุมัติเงินกู้ให้แก่เอกชนไปแล้วจำนวน 138 โครงการ มูลค่ารวมของโครงการ 3,300 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินที่อนุมัติทั้งสิ้น 1,740 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ได้มีการให้เงินกู้แก่โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง 3 แห่ง เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการนำเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียแบบตรึงฟิล์มไปใช้
อย่างไรก็ตาม ในความร่วมมือครั้งนี้ นายวีระศักดิ์ หวังว่า นอกจากจะเป็นการช่วยสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีฝีมือของคนไทยแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้รุกหน้าต่อไปได้โดยเร็ว
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net