กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
อีสเม็ดประกาศเตรียมพร้อมเปลี่ยนบทบาทเน้นดำเนินงานแบบเอกชน เจาะตลาดต่างจังหวัดเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เชิงรุก ในโอกาสครบรอบ 7 ปี ของการก่อตั้งสถาบัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีการแข่งขันและมีความไม่แน่นอนสูง
นายธเนตร นรภูมิพิภัชน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้กล่าวถึงแผนการดำเนินงานในปี 2549 ตลอดจนผลงานที่ผ่านมา และบทบาทที่เปลี่ยนไปของสถาบันว่าบทบาทเดิมของสถาบันในช่วงก่อตั้งหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สถาบันถือเป็นหน่วยงานกลางที่ให้เงินทุนดำเนินโครงการและให้บริการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs โดยมีสถาบันเครือข่ายในภูมิภาค สถาบันได้ทำหน้าที่นี้สำเร็จลุล่วง มีการฝึกอบรม สร้างที่ปรึกษาแผนธุรกิจ SMEs ทุกภูมิภาคและมีหลักสูตรอบรมต่าง ๆ มีการก่อตั้งสถาบันเครือข่ายหลักตามสถาบันการศึกษาของรัฐทุกภูมิภาค ผู้ประกอบการ SMEs ตระหนักถึงความสำคัญของแผนธุรกิจและการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและยั่งยืน
“ต่อมาเมื่อภาครัฐได้ก่อตั้งหน่วยงานถาวรเป็นหน่วยงานกลางในการวางแผนและส่งเสริม SMEs คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ขึ้นมาแล้ว สถาบันจึงได้ปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นหน่วยปฏิบัติ ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา โดยไม่ได้รับงบประมาณและการอุดหนุนจากภาครัฐ และยังได้รับมอบภารกิจให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้พร้อมกับให้บริการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ต่อไป” นาย ธเนตร กล่าว
นายธเนตร กล่าวต่อไปว่า จากบทบาทและภารกิจที่ได้เปลี่ยนไปทำให้สถาบันต้องมีการปรับโครงสร้างการดำเนินงานภายในเพื่อให้เกิดความคล่องตัวเป็นแบบเอกชนด้วยการทำการตลาดเชิงรุก ทั้งนี้ เพื่อให้สถาบันสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาสถาบันมีผลงานที่ดำเนินการอยู่และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs อาทิ การบริการวินิจฉัยเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของกิจการภาคผลิต (Business Competitiveness Diagnosis — BCDTM ) และการให้คำปรึกษาต่อเนื่อง เป็นโครงการยุทธศาสตร์ของสถาบันเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ปรับตัวได้ตรงจุดให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ (BCDTM) เป็นเครื่องมือที่เรียกว่า “Intelligence Knowledge Based System and Strategic Benchmarking Tool for CEO” ผู้ประกอบการที่ผ่านการวินิจฉัย BCDTM แล้วจะสามารถรู้จุดอ่อนและจุดแข็งของธุรกิจตนเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3 นี้ สถาบันจะทำระบบวินิจฉัยสำหรับภาคบริการแล้วเสร็จพร้อมให้บริการได้
นอกจากระบบวินิจฉัยธุรกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันแล้ว สถาบันยังได้ให้บริการอบรมธุรกิจ โดยเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เช่น หลักสูตรการผลิตลูกชิ้น การลงทุนในธุรกิจอพาร์ทเมนต์ การเขียนแผนธุรกิจ การวางระบบบัญชีและภาษี และหลักสูตรคาร์แคร์ เป็นต้น ทั้งนี้ สถาบันจะมีงาน มหสัมมนาธุรกิจอาหารจานรวยขึ้นในระหว่างวันที่ 26 — 28 พฤษภาคม ศกนี้ ภายในงานจะประกอบด้วยการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การเริ่มต้นธุรกิจอาหารในแง่มุมต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญ การฝึกทำอาหารในเมนูที่กำลังได้รับความนิยม รวมทั้งบริการให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย
“จากบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้สถาบันได้กำหนดยุทธศาสตร์บริการโครงการของภาครัฐเพื่อทำการตลาดเชิงรุก ด้วยการขยายการบริการในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ไปยังหน่วยงานภาครัฐในต่างจังหวัด เช่น โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กลางเพื่อสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์ โครงการนำร่องเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง และ OTOP จังหวัดอ่างทอง ปทุมธานี กำแพงเพชร และสมุทรสาคร โครงการระบบบริหารสินค้าคงคลังและ Logistics จังหวัดสิงห์บุรี โครงการออกแบบ Brand Identity จังหวัดกำแพงเพชรและกระบี่ โครงการพัฒนาหมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก จังหวัดกำแพงเพชร กิจกรรมเพื่อส่งเสริมตลาดท่องเที่ยว จังหวัดสระบุรี โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดอยุธยา และโครงการส่งเสริมด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์เชิงรุกกลุ่ม 4 จังหวัดภาคกลางตอนบน ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี สระบุรี และอ่างทอง” นายธเนตร กล่าว
นายธเนตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการให้บริการผู้ประกอบการ SMEs แล้ว สถาบันยังได้ให้บริการเพื่อสังคม เช่น การคัดเลือกธุรกิจขนาดเล็กเพื่อรับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น และการช่วยเหลือ SMEs ด้อยโอกาส และการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสปานานาชาติ ISPA 2006 Thailand ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 — 5 พฤษภาคม นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นอกจากนี้ สถาบันยังได้รับการมอบหมายจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการให้บริการวินิจฉัยธุรกิจสปาทั่วประเทศ 300 ราย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย
“สำหรับในปี 2549 นี้ ถือเป็นช่วงที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูงและมีความไม่แน่นอนสูงนั้น ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ปัญหา SMEs ที่เราเคยเข้าใจกันผิดๆ ว่า เป็นปัญหาการเงินจึงต้องให้บริการการเงินที่สะดวกทั่วถึงหรือช่วยแก้ปัญหาตลาด นั้น สาเหตุที่แท้จริง คือ SMEs ไม่รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้มากกว่า ดังนั้น สถาบันจึงขอเรียนให้ผู้ประกอบการ SMEs ทุกท่านทราบว่าสถาบันให้ความสำคัญในการพัฒนาขีดความของผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการเป็นที่พึ่งพาของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งผู้ประกอบการเดิม เช่น สถาบันมีบริการระบบวินิจฉัย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน (BCDTM) และผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งสถาบัน มีการอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำส่วนบริการแก่ภาครัฐโดยเฉพาะในต่างจังหวัด การให้บริการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ SMEs แบรนด์จังหวัด การสร้างโอกาสการขายสินค้า SMEs ของจังหวัด การสร้างโอกาสในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ตลอดจน Logistics เป็นต้น ภายใต้ปรัชญาและความเชื่อว่า SMEs ไทยจะอยู่รอดและพัฒนาได้อย่างยั่งยืนได้ต้องมี Niche Innovation และ Networks ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับประโยชน์จากบริการภาครัฐเหล่านี้” นายธเนตร กล่าวในที่สุด
อนึ่ง สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ในรูปมูลนิธิ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2542 ปัจจุบัน เป็นหน่วยชำนาญการและแกนนำองค์กรเครือข่าย ปฏิบัติการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs โดยพัฒนาผู้ประกอบการรายเดิม และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ให้สามารถบริหารธุรกิจด้วย ความสามารถในการแข่งขัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณกฤตยา สุวรรณวงศ์ 0-1372-6993
E-mail : Krtty_nat @ yahoo.com
คุณศศิธร ช้างใหญ่ 0-6015-2122
E-mail : [email protected]
โทรศัพท์ 0-2564-4000 ต่อ 6101 และ 6103
- ๒๓ ม.ค. กรุงไทย ผนึกกำลัง ISMED เสริมแกร่ง SME พลิกธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืน
- ๒๓ ม.ค. PRIME ผนึกกำลัง SME D Bank และ ISMED หนุนโรงพยาบาล ยกระดับสู่อัจฉริยะด้านพลังงาน พร้อมเข้าถึงแหล่งทุน
- ม.ค. ๒๕๖๘ SME D Bank จัดสัมมนาใหญ่แห่งปี 'เปิดประตูสู่โลกการค้าตะวันออกกลาง' หนุนเอสเอ็มอีไทย สยายปีกเจาะตลาด 'ซาอุฯ-บาห์เรน-ดูไบ' 18 ก.ค.66