กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--สมาคมพืชสวนโลกระหว่างประเทศ
ดร.ดีซี เฟเบอร์ ประธานสมาคมพืชสวนโลกระหว่างประเทศ (International Association of Horticultural Produces — AIPH) เปิดเผยหลังจากเดินทางเยี่ยมชมสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2549 ที่ จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับพืชสวนระดับมหกรรมโลก ชี้การจัดงานครั้งนี้จะหนุนไทยโดดเด่นด้านพืชสวน ในตลาดโลก พร้อมประกาศกติกาการแข่งขันการประกวดนานาชาติ ตามกฎการจัดงานพืชสวนฯ
“ประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการเชิญชวนให้ประเทศต่างๆเข้าร่วมจัดแสดงในงาน 30ประเทศ จาก 5ทวีปทั่วโลก แม้ว่าระยะเวลาค่อนข้างจำกัด แต่ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การที่นานาประเทศตอบรับเข้าร่วมงานครั้งนี้ เนื่องจาก ต้องการร่วมเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่แด่กษัตริย์ของประเทศไทยซึ่งเป็นที่รู้จักของนานาประเทศว่าพระองค์ท่านเป็นกษัตริย์นักเกษตรเอกของโลกที่ให้ความสำคัญทุ่มเทในการพัฒนาด้านการเกษตร นอกจากนี้ นานาประเทศต่างเชื่อมั่นในประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรมและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง ผลไม้ และมีศักยภาพด้านพืชสวน ไม้ดอกไม้ประดับ โดยเฉพาะดอกกล้วยไม้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะผู้ส่งออกกล้วยไม้ในอันดับต้นๆของโลก และหลังจากได้ตรวจความพร้อมและความคืบหน้าในการจัดเตรียมงานครั้งนี้ของประเทศไทย ผมรู้สึกประทับใจและพอใจเป็นอย่างมากต่อความพร้อมของคณะกรรมการการจัดงานโดยเฉพาะด้านการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อจัดแสดงสวนต่างๆ และมั่นใจว่า ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งเป็นงานมหกรรมพืชสวนที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จะเป็นงานมหกรรมพืชสวนโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก” ดร. เฟเบอร์กล่าว
“นอกจากนี้เพื่อเป็นไปตามกฎกติกาการเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนระดับโลกแล้วนั้น ประเทศไทยผู้จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและกติกาการจัดการประกวดตามหลักเกณฑ์การจัดประกวดตามมาตรฐานสมาคมพืชสวนโลกระหว่างประเทศ โดยนอกจากการประกวดสวนนานาชาติในอาคารและนอกอาคารของประเทศที่เข้าร่วมแสดงแล้ว จะมีการประกวดระดับนานาชาติในกลุ่มพันธุ์ไม้ 4 กลุ่ม ได้แก่ กล้วยไม้ ไม้ตัดดอก ไม้ดอกกระถาง และไม้ใบกระถาง ตามข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและ AIPH เพื่อสร้างสีสรรในการจัดงาน สำหรับรายละเอียดนั้น คณะกรรมการจัดงานได้แบ่งการแข่งขันออกเป็น 12 รายการ ประกอบด้วย 1. กล้วยไม้เดี่ยว 2. กล้วยไม้หมู่ 3. สวนหย่อมกล้วยไม้ 4. กล้วยไม้ตัดใบ 5. ไม้ตัดดอก 6. ไม้ดอกกระถาง 7. สวนหย่อมดอกไม้ 8. สวนหย่อมไม้น้ำ 9. สวนหย่อมไม้ใบ 10. ไม้ใบกระถาง 11. สวนนานาชาติในอาคาร และ 12. สวนนานาชาตินอกอาคาร
สำหรับพันธุ์ไม้ที่คณะกรรมการกำหนดให้ส่งเข้าประกวดนั้น มีมากกว่า 200 ชนิด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นส่วนเสริมสำคัญให้การจัดงานมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและเป็นสีสันให้กับงานและนักท่องเที่ยว โดยคณะกรรมการตัดสินการประกวดนั้นจะประกอบด้วยคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ (Jury of Honor) ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิระดับนานาชาติจำนวน 6 ท่านที่ผ่านการคัดเลือกจาก AIPH ซึ่งจะมาทำหน้าที่ร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชาวไทยอีก 5 ท่าน นอกจากนี้ ยังมีกรรมการตัดสินพันธุ์ไม้ (Class Juries) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการพืชสวนซึ่งเป็นที่ยอมรับ” ดร. เฟเบอร์กล่าว
ดร. เฟเบอร์ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของผลิตผลที่เกี่ยวกับพืชสวนและไม้ดอกไม้ประดับของประเทศไทย ที่ปัจจุบันได้มีการส่งออกไปยังตลาดในประเทศต่างๆทั่วทุกมุมโลก โดยมีจุดเด่นของประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่ดั้งเดิมและเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ทั้งยังเป็นคู่ค้าสำคัญของหลายๆประเทศ ซึ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่ทางสมาคมฯได้เล็งเห็นและยินดีที่จะให้ประเทศไทยเป็นผู้จัดงานระดับโลกในครั้งนี้ นอกจากนั้นตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสนับสนุนของ AIPH ที่มีต่องานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ราชพฤกษ์ 2549 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับพืชสวนทั่วโลกได้เติบโตและขยายตัวยิ่งขึ้น
- ๒๓ พ.ย. กรมวิชาการเกษตร ผนึก สสปน. จังหวัดอุดรธานี จับมือ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศเดินหน้าจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี 2569
- ๒๓ พ.ย. ทีเส็บ นำทีมอีสานไมซ์ซิตี้ นำเสนอความก้าวหน้า และความพร้อมเป็นเจ้าภาพ จัดงาน มหกรรมพืชสวนโลก ปี พ.ศ. 2569 และ ปี พ.ศ. 2572 ในงานประชุมประจำปีของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ ณ ประเทศโปแลนด์
- ๒๓ พ.ย. ประเทศไทยชูวิสัยทัศน์สู่อนาคตแห่งโลกสีเขียว คว้าสิทธิ์เจ้าภาพ มหกรรมพืชสวนโลก "โคราช เอ็กซ์โป 2029"