กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--สนพ.
กระทรวงพลังงาน ห่วงประชาชนเดือดร้อนจากนโยบายลอยตัว LPG เร่งเดินหน้าโครงการฉลากเตาหุงต้มประสิทธิภาพสูง เรียกประชุมผู้ประกอบการเตาแก๊ส LPG ได้ข้อสรุปเกณฑ์ฉลากเบอร์ 5 ต้องมีประสิทธิภาพทางความร้อนมากกว่า 55% ขึ้นไป ตั้งเป้าประหยัด LPG ได้กว่า 2.4 ล้านบาทต่อปี
นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการกำหนดเกณฑ์และจัดทำฉลากหุงต้ม LPG ประสิทธิภาพสูง เปิดเผยว่า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากนโยบายลอยตัวก๊าซหุงต้มหรือ LPG ในปี 2549 นี้ กระทรวงพลังงาน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ดำเนินการกำหนดเกณฑ์และจัดทำฉลากหุงต้ม LPG ประสิทธิภาพสูง เพื่อจัดทำฉลากประหยัดพลังงานสำหรับเตาหุงต้ม LPG หรือฉลากเตาแก๊สเบอร์ 5 โดยการสนับสนุนทุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
ภายหลังการหารือร่วมกับผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายเตาหุงต้ม LPG และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีผลสรุปร่วมกันคือ จะใช้วิธีทดสอบตามมาตรฐาน มอก.2312 - 2549 (ฉบับร่าง) ซึ่งกำหนดโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) รูปแบบฉลากจะมีลักษณะคล้ายฉลากเบอร์ 5 ของเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งประชาชนทั่วไปเข้าใจง่าย โดยระบุข้อมูลประสิทธิภาพทางความร้อน (%) และอัตราการป้อนแก๊ส (กิโลกรัม/ชั่วโมง) เตาหุงต้มที่มีประสิทธิภาพทางความร้อนมากกว่า 55% ขึ้นไป จะได้ฉลากเบอร์ 5 ประสิทธิภาพ 55-50% จะได้ฉลากเบอร์ 4 และประสิทธิภาพน้อยกว่า 50% - 40% จะได้ฉลากเบอร์ 3
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2549 กระทรวงพลังงานได้ประกาศทิศทางราคาก๊าซหุงต้มของประเทศไทย โดยจะเริ่มทยอยลดการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มในกลางปี ก่อนจะลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มอย่างสมบูรณ์ในปลายปี 2549 เพื่อให้ราคาก๊าซหุงต้มทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนตามราคาที่แท้จริง จากที่รัฐบาลได้อุดหนุนราคา LPG ไว้ทั้งการกำหนดเพดานหน้าโรงกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตรา 3 บาทต่อกิโลกรัม
กระทรวงพลังงาน ได้เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากนโยบายลอยตัวก๊าซหุงต้มหรือ LPG ต่อภาคประชาชนและธุรกิจการค้าขนาดเล็กที่ใช้ LPG เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้มอาหาร โดยในช่วงปี 2546 - 2547 สนพ. ได้สนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้ มจธ. ทำการสำรวจและประเมินสมรรถนะของเตาหุงต้ม LPG ในประเทศไทย ทั้งทางด้านประสิทธิภาพทางความร้อน และก๊าซมลพิษที่ปล่อยออกมา เพื่อให้มีข้อมูลสาธารณะสำหรับประชาชนในการตัดสินใจเลือกซื้อเตาหุงต้ม LPG ที่มีประสิทธิภาพสูง และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตเตาแก๊สหุงต้ม LPG ตามมาตรฐานการผลิตอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน โดยได้รับความร่วมมือจาก 13 ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายเตาแก๊สหุงต้ม ส่งเตาจำนวน 399 ตัวอย่างเข้าทดสอบ พบว่า เตาหุงต้ม LPG ในประเทศไทย มีค่าประสิทธิภาพทางความร้อนเฉลี่ยที่ 49% ดังนั้นหากผู้ผลิตและจำหน่ายเตาหุงต้ม LPG ในประเทศไทยสามารถเพิ่มค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพทางความร้อนเป็น 55% ก็จะช่วยประหยัดการใช้ LPG ลงได้ 2.4 ล้านกิโลกรัมต่อปี
ด้านนายวรชัย สืบวงษ์นาท ผู้อำนวยการฝ่ายโรงงาน บริษัท ลัคกี้เฟลม จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเตาหุงต้ม "ลัคกี้เฟลม" เปิดเผยว่า โครงการจัดทำฉลากเตาหุงต้ม LPG เป็นโครงการที่ดี สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเข้ามาร่วมโครงการนี้มากที่สุด เพราะถ้าตั้งประสิทธิภาพสูงเกินไป ผู้ประกอบการก็จะไม่เข้าร่วมโครงการฯ เพราะเตาหุงต้มไม่เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าเท่ากันที่ 220V ซึ่งเตาแก๊สที่ขายอยู่ตามท้องตลาดทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะตั้งไฟให้แรงไว้ก่อน ส่วนเรื่องการจัดทำและติดฉลากแสดงประสิทธิภาพเตานั้น ทางบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐเต็มที่ แต่ต้องไม่ละเลยเรื่องความปลอดภัย ที่ทางลักกี้เฟลมถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก
นายวิรุฬห์ ลู่ทางเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมกซ์แกน แมนูแฟคเจอร์ริ่ง จำกัด ผู้ผลิตเตาหุงต้มยี่ห้อ UD และ BIG FUN เปิดเผยว่า การติดฉลากประหยัดพลังงานเตาหุงต้มเป็นเรื่องที่ดีและเห็นด้วยกับภาครัฐ ซึ่งหากดำเนินการเร็วเท่าไร ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากขึ้นเท่านั้น เพราะผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลงได้ แต่ฝากภาครัฐด้วยว่า หากตั้งเกณฑ์ในการพิจารณาให้ฉลากต่ำเกินไป จะทำให้ผู้ประกอบการหยุดการพัฒนา ดังนั้นในอนาคตจึงควรเพิ่มต่อเป็นเบอร์ 6 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาต่อไป ซึ่งจะถือเป็นนิมิตใหม่ของวงการ