ร่วมผจญภัยไปกับบรรดาช้างน้อยแสนน่ารัก พร้อมกันทั่วประเทศ 18 พฤษภาคม 2549

อังคาร ๐๔ เมษายน ๒๐๐๖ ๑๔:๕๒
กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สหมงคล ฟิล์ม
กำหนดการเข้าฉาย 18 พฤษภาคม 2549
รูปแบบ ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น 3 มิติ
แนวภาพยนตร์ ดราม่า — คอเมดี้
จัดจำหน่ายโดย บริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด
บริษัทดำเนินงานสร้าง บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น จำกัด
ควบคุมงานสร้าง อัจฉรา กิจกัญจนาสน์
กำกับภาพยนตร์ คมภิญญ์ เข็มกำเนิด
บทภาพยนตร์ อัมราพร แผ่นดินทอง และ จรูญพร ปรปักษ์ประลัย
ดนตรีประกอบ ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์
กำกับศิลป์ ทวีลาภ ศรีวุฒิวงศ์
ออกแบบงานสร้าง พัชนุ โนรี
บันทึกเสียง บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น จำกัด
เวปไซด์ทางการ WWW.KHANKLUAYTHEMOVIE.COM
WWW.KHANKLUAY.COM
พากษ์เสียงโดย ภูริ หิรัญพฤกษ์ ( ก้านกล้วยตอนโต ), วรัทยา นิลคูหา (ชบาแก้วตอนโต ),
พงษ์สุข หิรัญพฤกษ์ ( จิ๊ดริด ), จุรี โอศิริ ( พังนวล ), นันทนา บุญหลง(แสงดา )
เจริญพร อ่อนละม้าย ( โก๊ะตี๋พากษ์เป็น มะโหนก ),
ชาญณรงค์ ขันทีท้าว ( ติ๊ก กลิ่นสีพากษ์เป็น นายกองพม่า),สุเทพ โพธิ์งาม ( มะหูด ),
ด.ช. อัญญาฤทธิ์ พิทักษ์ติกุล ( น้องเก็ทพากษ์เป็นก้านกล้วยตอนเด็ก),
ด.ญ.นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ ( น้องเกรซพากษ์เป็นชบาแก้วตอนเด็ก)
เรื่องย่อ
วีรบุรุษผู้มี 4 ขา 2 งา และ 1 งวง ช้างศึกผู้สร้างเกียรติประวัติสูงสุดให้แก่ช้างไทย ในฐานะช้างคู่พระบารมีแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งสงครามยุทธหัตถี
ชื่อของเขาคือ “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” หรืออีกนามหนึ่งว่า... “ก้านกล้วย”
นี่คือเรื่องราวการเติบโตของช้างเชือกหนึ่ง จากลูกช้างซุกซน ใช้ชีวิตอิสระอยู่ท่ามกลาง ป่าลึก แต่แล้ว...ด้วยความอยากรู้เรื่องของพ่อที่หายไปได้นำเขาออกเดินทางสู่การผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ผ่านหลากหลายเหตุการณ์ซึ่งให้บทเรียนใหม่ๆ เปลี่ยนให้เขากลายเป็นช้างที่กล้าแกร่ง เต็มไปด้วยพละ กำลัง ในขณะที่จิตใจกลับอ่อนโยน
บรรดาตัวละครต่างๆที่เขาได้พบระหว่างการเดินทาง อาทิเช่น จิ๊ดริด - นกพิราบสื่อสารขี้โม้, ชบาแก้ว ช้างสาวผู้น่ารักและแสนงอน, ติ่งรูและรถถังช้างรุ่นพี่และรุ่นอาซึ่งเขาได้พบในหมู่บ้าน, บุญเรือง - ช้างศึกแห่งเมืองหลวงและที่สำคัญ แสงดา - แม่ซึ่งก้านกล้วยจากมา ล้วนเป็นส่วนที่เข้ามาเติมเต็มสร้างสีสันและความสนุกสนาน พร้อมกันนั้นก็ให้บทเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นเสมือนการเตรียมความพร้อม ให้เขาก้าวสู่การเป็นช้างศึกเชือกสำคัญในประวัติศาสตร์
นอกจากนี้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์และการได้พบกับผู้คนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระนเรศวร มหาราชผู้เกรียงไกรของชาติไทย, ลุงมะหูด - หัวหน้าครูฝึกช้าง, มังคุด - เด็กมนุษย์ตัวน้อยผู้บริสุทธิ์สดใส และ ฯลฯ ยังทำให้ก้านกล้วยได้เรียนรู้ถึงมิตรภาพระหว่างคนและช้าง อันนำไปสู่การเสียสละตัวเอง โดยเดินหน้าเข้าสู่สงครามอย่างนักรบผู้กล้า เช่นเดียวกับที่พ่อของเขาเคยทำมาเมื่อครั้งอดีตสุดท้าย ขณะอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบ และต้องเผชิญหน้ากับศัตรูผู้น่าเกรงขามเขาก็ได้รับบทเรียนครั้งสำคัญที่สุด นั่นก็คือการเอาชนะความกลัวในจิตใจตัวเอง
เมื่อมีชัยเหนือตัวเองก็ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะทำให้เขาพรั่นพรึงได้อีกต่อไป และจุดนี้เองที่ทำให้เขากลายเป็นช้างผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง แม้จุดหมายแรกคือการตามหาพ่อแต่ในที่สุดก้านกล้วยกลับได้พบสิ่งที่มีความหมายยิ่งกว่า นั่นก็คือมิตรภาพ ความกล้าหาญและความเสียสละ ซึ่งอยู่ในตัวเขาเอง เป็นจิตวิญญาณ ของพ่อที่อยู่ กับเขามายาวนาน และนี่คือบทสรุปที่ล้ำค่ายิ่ง สำหรับการเดินทางของเขาในครั้งนี้
ภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกของเมืองไทย
หลังจากที่บริษัทกันตนาแอนนิเมชั่นได้ผลิตแอนิเมชั่นซีรีส์ชุด “ซน 100 %” ออกสู่สายตาประชาชนซึ่งนับเป็นผลงานการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องแรกในปี 2547 และในปีนี้ บริษัทกันตนาแอนนิเมชั่นจำกัดก็ได้สานต่อโครงการภาพยนตร์การ์ตูนสุดยิ่งใหญ่เรื่อง “ก้านกล้วย” ภาพยนตร์การ์ตูนสายเลือดไทยที่ทุ่มทุนสร้างกว่า 150 ล้านบาทโดยการจับมือของสองพันธมิตรยักษ์ใหญ่แห่งวงการหนังไทยคือบริษัทสหมงคลฟิล์มอินเตอร์เนชั่นแนลจำกัดและบริษัทกันตนาแอนนิเมชั่นจำกัด
ก้านกล้วย ภาพยนตร์แอนิเมชั่นสามมิติ ( 3D ) อิงประวัติศาสตร์แนวแฟนตาซี ดราม่า มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิต ความสนุกสนาน การผจญภัยและความกล้าหาญของช้างไทยที่ชื่อว่า “ก้านกล้วย” ก่อนที่จะได้มาเป็นช้างทรงผู้ยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระนเรศวรนามว่า “ เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” ด้วยความโดดเด่นของบทภาพยนตร์และคาแรกเตอร์ช้างที่มีความเป็นเอกลักษณ์ สามารถแสดงออกถึงความเป็นไทยทำให้เป็นจุดแข็งที่สร้างความเชื่อมั่นได้ว่าก้านกล้วยจะสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการแอนิเมชั่นเมืองไทยในฐานะผู้เปิดประตูสู่ระดับสากลเป็นครั้งแรก ทั้งนี้นายจาฤก กัลย์จาฤก กรรมการบริหารบริษัทกันตนาแอนนิเมชั่นจำกัดเปิดเผยว่าในส่วนของการทำแอนิเมชั่นซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการให้ชีวิตแก่ตัวละครสร้างให้ตัวละครและสิ่งประกอบแวดล้อมต่างๆในภาพยนตร์มีการเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริงมีชีวิตชีวา รวมทั้งสร้างอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครให้เป็นธรรมชาติเพื่อความสนุกสนานของภาพยนตร์นั้นได้หัวเรือหลักระดับมืออาชีพอย่าง คมภิญญ์ เข็มกำเนิดซึ่งเคยฝากผลงานในการ์ตูนแอนิเมชั่นชื่อดังของวอล์ทดิสนีย์และบลูสกาย สตูดิโออย่าง ทาร์ซาน (Tarzan), ไอซ์เอจ ( Ice Age )และแอตแลนติส ( Atlantis) มาเป็นผู้กำกับควบคุมการผลิตให้ออกมาดีที่สุดโดยมีทีมงานในส่วนของการผลิตทั้งหมดกว่า 100 คน
จุดเริ่มต้น “ ก้านกล้วย”
คมภิญญ์ เข็มกำเนิดกล่าวถึงที่มาของก้านกล้วยว่า มาจากตัวหนังสือ 2 บรรทัดในประวัติศาสตร์ที่บอกไว้ว่า ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมีหลังโค้งแปรดังก้านกล้วยซึ่งเป็นลักษณะที่ดีของช้าง บวกกับทางบริษัทกันตนาแอนนิเมชั่นมองหาโปรเจกต์ที่จะผลิตภาพยนตร์และต้องการผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยลงสู่โลกแอนิเมชั่นทำให้กันตนาเลือกโปรเจกต์ก้านกล้วยเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกและอาศัยระยะเวลาในการผลิตกว่า 2 ปีจากความร่วมมือระหว่างทีมงานชาวไทยที่ดูแลในส่วนของการเขียนบท,ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์รวมทั้งผู้ดูแลฉากที่ทำงานควบคู่ไปกับทีมงานจากฮอลลีวู้ดด้วยทุนสร้างกว่า 150 ล้านบาท
“งบประมาณในการลงทุนเบื้องต้นเราวางไว้ 50 ล้านบาทแต่ว่าสุดท้ายจบลงที่ 150 ล้านบาทถือว่าเป็นทุนสร้างที่เยอะเมื่อเทียบกับภาพยนตร์ทั่วไป แต่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเป็นสื่อที่ต้องอาศัยเงินทุนที่สูง ต้องอาศัยเวลาและคนจำนวนเยอะส่วนในเรื่องของทีมงานจะว่าไปก็เหมือนโปรดักชั่นในการทำหนังอาจจะต่างกันตรงกระบวนการนิดหน่อยตรงที่ว่าเราต้องทำการตัดต่อในช่วงที่เป็น
storyboard ให้เสร็จสมบูรณ์เหมือนเป็นหนังทั้งเรื่องโดยมีเสียงมีภาพที่สมบูรณ์แต่จะเป็นภาพนิ่งในขณะที่หนังทั่วไปเขาจะถ่ายเป็นฟุตเตจแล้วนำมาตัดต่อแต่การทำแอนิเมชั่นเราต้องทราบก่อนว่าหนังมันเป็นอย่างไร”
หลายคนอาจพอนึกภาพกระบวนการผลิตภาพยนตร์ทั่วไปได้แต่หากเอ่ยถึงภาพยนตร์แอนิเมชั่นหลายคนอาจจะมีความสงสัยว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างจากภาพยนตร์โดยทั่วไปอย่างไรซึ่งผู้กำกับคมภิญญ์ได้พูดถึงขั้นตอนในการผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นว่า
“เมื่อได้พล็อตเรื่องแล้วเราก็จะมีทีมเขียนสคริปต์ซึ่งจะเป็นแบบกึ่งๆเบรนสตรอมร่วมกับครีเอทีพประมาณ 5- 6 คน จะคอยรับส่งเสนอไอเดียกันและก็จะมีสกรีนไรเตอร์คือคุณอัมราพร แผ่นดินทองซึ่งเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง “แฟนฉัน” คอยสรุปไอเดียจนกระทั่งได้สคริปต์เป็นรูปเป็นร่างครบสมบูรณ์ นำไปพากษ์เสียงและเอาสคริปต์มาแตกเป็นภาพนิ่ง เขียนเป็นสตอรี่บอร์ดแล้วก็สแกนเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์และตัดต่อพร้อมเสียง ทั้งเสียงพากษ์ เสียงเพลง เสียงดนตรีหรือซาวน์เอฟเฟกต์ต่างๆที่พอไกด์อารมณ์ของหนังได้ จากนั้นก็ให้ทีมอาร์ตออกแบบดีไซน์คาแรกเตอร์ออกแบบแบ็คกราวด์อย่างโลกอยุธยาสมัยนั้นจะเป็นอย่างไร กรุงหงสาวดีน่าจะเป็นแบบไหนจากนั้นก็ส่งไปยังแผนกแอนิเมชั่นเขาก็จะศึกษาว่าฉากนี้ต้องทำอะไรบ้างเช่นตัวละครจะต้องแสดงอะไรโดยเขาจะฟังเสียงคาแรกเตอร์บวกกับเสียงประกอบอื่นๆจนเข้าใจว่าตัวละครต้องการอะไร เมื่อทำแอนิเมชั่นเสร็จก็จะส่งไปแผนกแสงรวมไปถึงพื้นผิวด้วยอย่างผิวของช้าง โทนสีซึ่งเราก็จะตั้งอยู่ในความเป็นจริง
แต่เติมสีให้มันดูจัดจ้านขึ้น รวมทั้งปลูกขน หนวด จากนั้นก็จัดแสงไปตามอารมณ์ของฉากนั้นๆ จากนั้นก็วางองค์ประกอบภาพให้ดูสมบูรณ์รวมทั้งใส่สเปเชียลเอฟเฟกต์เช่น ลม ฝุ่น ฝน ไฟให้ดูสมจริงขึ้น สุดท้ายก็เอาไปลงฟิล์มปรับสีที่ฟิล์มอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ประกอบดนตรีครั้งสุดท้าย”
การวางคาแรกเตอร์ตัวละคร
ตัวละครก้านกล้วยเดินเรื่องตั้งแต่ยังเป็นเด็กชายก้านกล้วยอยู่ในโขลงช้างกับแสงดาผู้เป็นแม่จนกระทั่งชีวิตผกผันเป็นช้างหนุ่มจนได้เข้ามาฝึกบุคลิกภาพเพื่อคัดเลือกตัวเป็นช้างทรงพระมหากษัตริย์ดังนั้นการวางคาแรกเตอร์ของก้านกล้วยจึงเป็นเรื่องยากซึ่ง ผู้กำกับคมภิญญ์ เข็มกำเนิดได้กล่าวถึงคาแรกเตอร์ของก้านกล้วยว่า
“ ตัวละครก้านกล้วยเป็นช้างที่มีความสามารถ เก่ง มีแววตั้งแต่เด็กแต่ว่าถูกเลี้ยงมาโดยไม่ให้ไปยุ่งกับเรื่องเดือดร้อน บุคลิกในตอนแรกจะถอดแบบมาจากแม่คือแม่จะสอนให้รักสงบจากนั้นชะตากรรมจะทำให้ก้านกล้วยเริ่มเป็นผู้กล้ามากขึ้นต้องปกป้องคนอื่น ประเด็นสำคัญคือการเลือกทางเดิน ก้านกล้วยจะเลือกไปทางไหนซึ่งเขาเลือกไปหาพ่อไม่เชื่อฟังคำสั่งแม่ทำให้มีชีวิตแบบหักเหแล้วจะมีทางเลือกผ่านเข้ามาเรื่อยๆ ผ่านการเรียนรู้ว่าเขาจะเลือกทางไหนดีทางที่จะอยู่เพื่อตัวเองอย่างมีความสุขหรืออยู่เพื่อคนอื่น ส่วนการวางคาแรกเตอร์เนื่องจากตัวละครมีพัฒนาการตั้งแต่เด็กจนโต ตอนเด็กก้านกล้วยจะมีเชฟเตี้ยๆกลมๆดูน่ารักและเมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นจะเริ่มมีเหลี่ยมเข้ามา ส่วนการวางสีตอนแรกก้านกล้วยเราดีไซน์ให้เป็นสีเทาอมฟ้าคือยังตั้งอยู่บนความจริงแต่เรารู้สึกว่าต้องใช้สีจัดจ้านขึ้นมาหน่อยก็ลดลงให้เหลือแค่สีฟ้าซึ่งก็ดูเหมาะกับบุคลิกของก้านกล้วย
ส่วนช้างที่เป็นคู่รักของก้านกล้วยคือ ชบาแก้ว ช้างผู้ให้กำลังใจและคอยปลอบใจยามก้านกล้วยมีทุกข์ คาแรกเตอร์ของชบาแก้ววางไว้ให้เป็นผู้หญิงที่มั่นใจในตนเอง อายุมากกว่าก้านกล้วยและมีความผูกพันกับมนุษย์คือ ควาญมะหูดซึ่งชบาแก้วนับถือดั่งพ่อ
“ ชบาแก้วเป็นช้างกำพร้าไม่รู้จักพ่อแม่เลย ถูกเลี้ยงมาด้วยคน เขาจะมองคนกับช้างเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ชบาแก้วจะเรียกมะหูดที่เลี้ยงตัวเองมาว่าพ่อเพราะฉะนั้นบุคลิกของชบาแก้วจะเป็นเฟมินิสต์คือดูแลสิทธิ์ของตัวเอง ตัวละครชบาแก้วจะเป็นโทนสีชมพูเพราะสีชมพูคือบุคลิกของผู้หญิง”
ก่อนที่ก้านกล้วยจะเลือกทางเดินให้กับชีวิตตัวเอง ก้านกล้วยก็อยู่ในโขลงช้างซึ่งมีแสงดาหรือแม่เป็นผู้ปกป้อง คอยสั่งสอน ก้านกล้วยกับแม่สนิทกันมากแต่สิ่งหนึ่งที่แม่ไม่เคยบอกก้านกล้วยคือเรื่องของพ่อ ด้วยความอยากรู้ว่าพ่อตัวเองเป็นใครทำให้โชคชะตานำพาก้านกล้วยไปพบกับเรื่องราวต่างๆ
“ แสงดาแม่ของก้านกล้วยเป็นช้างที่ดูแลลูก รักและคอยปกป้องลูกเหมือนกับแม่คนอื่นไม่อยากให้ลูกไปเจออันตรายหรือถ้าอันตรายเข้ามาก็จะหนีห่างหรืออาจจะบังคับลูกว่า อย่านะ อย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้นะ”
อีกหนึ่งตัวละครที่เป็นสีสันในเรื่องคือนกพิราบสื่อสาร เพื่อนแท้ของก้านกล้วย “จิ๊ดริด” ซึ่งคอยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยเตือนและบอกกล่าวในสิ่งที่ก้านกล้วยไม่รู้
“ จิ๊ดริดจะเป็นนกพิราบสื่อสารหน้าที่หลักคือเป็นหน่วยแทรกซึมไปตามหมู่บ้านต่างๆ คอยส่งซิกแนลและเป็นนกที่ชอบดูมวยเห็นการต่อสู้ที่ไหนต้องเข้าไปร่วมด้วย แต่ว่านิสัยของจิ๊ดริดจะเป็นนกที่ขี้ขลาด ไม่ค่อยกล้าแต่เมื่อมาเจอกับก้านกล้วยก็รู้สึกถูกชะตาก็เลยทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยงของก้านกล้วยในทางที่ถูกต้องแม้ว่าก้านกล้วยจะเชื่อบ้างหรือไม่เชื่อแต่ก็ถือว่าเป็นเพื่อนแท้กัน”
ส่วนศัตรูคู่อาฆาตของก้านกล้วยคือช้างศึกของพม่าที่ช้างตัวใดเห็นเป็นอันต้องถอยทัพหนี “งวงแดง” เป็นช้างศึกที่ทรงพลังมากและไม่เคยแพ้ใครในสงคราม
“ งวงแดงเป็นช้างศึกอันดับหนึ่งของพม่า มีความสามารถเก่งกล้ามีพลังในตัวหากใครได้เห็นงวงแดงก็จะเกรงกลัวไม่กล้าเข้ามาสู้ทำให้งวงแดงสามารถที่จะขึ้นมาเป็นจอมราชันย์แห่งช้างได้อย่างสบาย ก้านกล้วยเองเมื่อได้เจองวงแดงก็เกิดความรู้สึกกลัวแต่ก็พยายามข่มใจแต่ตัวงวงแดงเมื่อได้เจอกับก้านกล้วยกลับคิดว่า ไอช้างตัวนี้มีบุคลิกดีจะต้องมาเป็นคู่แข่งในอนาคตอย่างแน่นอนจึงจำเป็นต้องกำจัดเสียก่อน ส่วนการดีไซน์คาแรกเตอร์ของงวงแดงก็จะไปในเชิงสูงใหญ่ สะโพกแบบแหลมๆ มีเหลี่ยมมีมุมให้ดูแข็งแรงโหดร้าย”
การลงพื้นที่ภาคสนาม
ฉากหลังของภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องก้านกล้วยได้แรงบันดาลใจจากป่าเขาใหญ่ซึ่งทีมงานแอนิเมเตอร์และทีมงานกว่า 100 คนต้องไปรีเสิรช์สถานที่จริงตามปางช้างและป่าที่คาดว่าจะมีสัตว์ใหญ่อย่างช้างอาศัยอยู่
“ เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะอยู่ตรงกลางระหว่างกราฟฟิกกับเรียลลิสติค จึงต้องมีการเทรนทีมงานในเรื่องของแอ็คติ้งเรื่องการเคลื่อนไหวก็พาทีมงานแอนิเมเตอร์ไปดูปางช้าง ไปดูธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ต้องดีไซน์ฉาก ดีไซน์บรรยากาศคือมันต้องอิงจากสถานที่จริงเท่านั้นจึงจะสามารถถ่ายทอดออกมาได้เหมือน เราก็ไปปางช้าง เก็บวิดีโอลักษณะท่าทางของช้าง ไปป่าเขาใหญ่
นอนในป่าพยายามที่จะเดินตามช้างดูช้างป่าว่าเขาอยู่กันอย่างไรแต่ปรากฏว่าเราเจอแต่มูลช้าง (หัวเราะ ) ตอนไปเขาใหญ่ผมรู้สึกว่าป่าไทยจะไม่เหมือนป่าอื่นไม่เหมือนป่าแคลิฟอร์เนีย ป่าสิงคโปร์ซึ่งทีมงานเขาถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก ส่วนการดีไซน์เมืองอยุธยาหรือพม่าเราจะหาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ไทยและพม่าควบคู่ไปด้วยนอกจากนี้ก็จะมีการหาข้อมูลของปางช้างอย่างการทำพิธีกรรมที่เกี่ยวกับช้าง การออกศึก กระบวนสงครามและเลือกเอามาใช้หรือการออกแบบท่าทาง หากว่าทีมแอนิเมเตอร์ต้องการถ่ายทอดความรู้สึกตรงนั้นออกมา บางครั้งเขาต้องเทสต์กับตัวเองอย่างฉากที่ก้านกล้วยขาเจ็บเราก็ไปดู ไปศึกษาว่าเวลาช้างเจ็บเขารักษาพยาบาลกันยังไงก็ทราบว่าช้างจะต้องเข้าเฝือกโดยการเอาเชือกมามัดพุงช้างโยงเข้ากับเสากับคาน ช้างก็จะประคองขาตัวเองแล้วอารมณ์ของก้านกล้วยตอนนั้นก็จะโกรธด้วยก็พยายามเคลื่อนไหว ขัดขืน ขาก็เจ็บ โกรธก็โกรธ เราก็จับทีมแอนิเมเตอร์มัดเชือกผูกเข้ากับราวบันไดให้มีความรู้สึกว่ามือกับเท้ายังไม่ติดพื้นและเอาไม้ไปแหย่เขาก็จะดิ้นจะขยับเราก็ถ่ายความรู้สึกตรงนั้นมาใช้”
ทีมพากษ์
นอกจาก “ก้านกล้วย” จะเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่มีความน่าสนใจทางด้านเนื้อหาและตื่นตาทางด้านแอนิเมชั่นแล้ว ทางด้านการพากษ์เสียงยังได้นักแสดงระดับมืออาชีพที่มีเสียงเป็นเอกลักษณ์มาพากษ์เป็นตัวละครต่างๆ อาทิ พระเอกชื่อดังภูริ หิรัญพฤกษ์พากษ์เสียงเป็นตัวละคร ก้านกล้วยตอนโต ส่วนก้านกล้วยตอนเด็กพากษ์เสียงโดย น้องเก็ท เด็กชายอัญญาฤทธิ์ พิทักษ์ติกุล ดาราเด็กสุดน่ารักจากภาพยนตร์เรื่องแฟนฉัน ส่วนช้างแสนสวยชบาแก้วตอนโตให้เสียงพากษ์โดยนางเอกสาวจุ๋ย วรัทยา นิลคูหาและชบาแก้วตอนเด็กได้เสียงน่ารักๆจากน้องเกรซ ด.ญ.นวรัตน์ เตชะรัตนประเสริฐ นอกจากนี้ตัวละครอื่นๆเช่น “จิ๊ดริด” นกพิราบสื่อสารที่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้กับก้านกล้วยพากษ์เสียงโดย พงษ์สุข หิรัญพฤกษ์พิธีกรหนุ่มจากรายการ ไออีโชว์
“ พังนวล” ย่าของก้านกล้วยพากษ์เสียงโดย ป้าจุ๊ จุรี โอศิริ “ แสงดา” แม่ที่คอยห่วงใยก้านกล้วยอยู่เสมอได้นันทนา บุญหลง นักแสดงและนักร้องชื่อดังรับหน้าที่พากษ์ “ มะโหนก” เพื่อนตัวแสบของก้านกล้วยได้โก๊ะตี๋รับหน้าที่พากษ์ “ มะหูด” ควาญช้างที่ชบาแก้วนับถือเหมือนพ่อ พากษ์เสียงโดย ป๋าเทพ สุเทพ โพธิ์งาม “นายกองพม่า” ได้ติ๊ก กลิ่นสีพิธีกรอารมณ์ดีรับหน้าที่พากษ์ ส่วนสุเมธ องอาจนักร้องเสียงดีจากสุเมธแอนด์เดอะปั๋งพากษ์เสียงเป็นพระนเรศวรและสุดท้าย “สิงขร” เพื่อนของพ่อก้านกล้วยได้มือพากษ์ชั้นนำของวงการอย่างรอง เค้ามูลคดีรับหน้าที่พากษ์เสียง
ความยากและความท้าทายใน “ ก้านกล้วย”
เนื่องจากความต้องการของทีมงานและผู้กำกับที่อยากให้ ก้านกล้วย เป็นหนังที่สมบูรณ์เหมือนจริงทั้งทางด้านภาพและเนื้อหา ก้านกล้วยจึงเป็นโจทย์ที่ยากมากทั้งยังมีอุปสรรคให้เหล่าทีมงานต้องแก้ปัญหาตลอดเวลาซึ่งผู้กำกับคมภิญญ์ เข็มกำเนิดเป็นตัวแทนกล่าวถึงอุปสรรคความยากง่ายในโปรเจกต์ตลอด3ปีนี้ว่า
“ ผมมองว่ามันท้าทายมากกว่ามันมีทั้งสิ่งที่ยากที่สุดคือมันเป็นสิ่งแรกครั้งแรกที่เราได้มาทำงานแบบนี้อย่างผมเองเคยทำงานอยู่ต่างประเทศก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งในทีมแต่ตอนนี้เราต้องเข้ามารับแบบเต็มๆกับเหล่าทีมงานและทีมงานส่วนใหญ่ของเราเกือบทั้งหมดยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำภาพยนตร์ ตอนแรกก็ประมาณการว่าปัญหาน่าจะมีประมาณนี้แต่พอลุยเข้าไปแล้วปัญหามันเริ่มเยอะขึ้นตอนแรกก็กลัวว่าจะออกมาสมจินตนาการหรือเปล่าก็พยายามผลักดันให้มันดี มีการวิจารณ์ การประชุมและแก้ไขตลอดเวลา มีไอเดียอะไรดีๆเราก็หยิบมาใส่ มาปรับปรุง พัฒนาเปลี่ยนแปลงจนบางครั้งมันมีชีวิตของมันโดยที่เราไม่ได้ควบคุม มันเบ่งบานด้วยตัวเองพวกเราเองก็รู้สึกโตไปกับมันด้วย”
คาแรกเตอร์ตัวละคร
ก้านกล้วย - พลายภูเขาทอง - พระยาไชยานุภาพ — เจ้าพระยาปราบหงสาวดี
ก้านกล้วยเป็นช้างรูปงาม มีหลังโค้งแปแบบก้านกล้วย อันเป็นที่มาของชื่อ “ก้านกล้วย” สำหรับช้างแล้ว นี่ถือเป็นคชลักษณ์หรือลักษณะของช้างอันดียิ่ง จนพังนวลย่าของเขาทำนายว่าโตขึ้น เขาจะต้องเป็นช้างที่กล้าหาญเหมือนพ่อ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่แม่ของเขาไม่ยินดีด้วยเลย เพราะกลัว ว่าถ้าเขาโตขึ้นและเป็นเหมือนพ่อจริงๆ นางจะต้องเสียเขาไป เหมือนที่เคยเสียพ่อของเขามาแล้ว ด้วยความกล้าหาญบวกกับคุณสมบัติที่ดีพร้อม ทำให้ “ก้านกล้วย” ได้รับเลือกเป็น พระคชาธารของพระนเรศวร โดยมีชื่อใหม่ว่า “พระยาไชยานุภาพ” เขานี่เองที่เป็นกำลังสำคัญในการทำยุทธหัตถีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างพระนเรศวรกับพระมหาอุปราชา อันนำมาซึ่งชัยชนะและความร่มเย็นแห่งกรุงศรีอยุธยา และความเก่งกล้าของก้านกล้วยทำให้เขาได้รับพระราชทานนามว่า “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี”
ชบาแก้ว
ช้างสาวผู้ร่าเริง น่ารักและมีจิตใจอันดีงาม ชบาแก้วเป็นช้างที่เกิดในหมู่บ้านเธอจึงคุ้นเคยกับการอยู่กับมนุษย์และมีความรู้สึกที่ดีต่อพวกเขาเธอคอยช่วยงานมนุษย์เสมอหน้าที่หลักของเธอคือการดูแลเด็กๆ ในหมู่บ้าน และเข้าไปเก็บผลหมาก รากไม้ในป่า ชบาแก้วเป็นช้างที่มีน้ำใจเมื่อเห็นใครเดือดร้อนก็จะเข้าไปช่วยเสมอด้วยนิสัยเช่นนี้เองทำให้เธอได้รู้จักกับก้านกล้วยและหลังจากที่ได้รู้จักกันและเติบโตมาด้วยกัน ความรักของทั้งคู่ก็งอกงามขึ้น ในขณะเดียวกันชบาแก้วก็ค่อยๆสอนให้ก้านกล้วยไว้ใจมนุษย์ จนกระทั่งเขายอมพลีชีพต่อสู้เคียงคู่กับมนุษย์
จิ๊ดริด
นกพิราบ คู่หูตัวป่วนของก้านกล้วย เป็นนกช่างพูด ตลก ชอบโวยวาย และหลงตัวเองเป็นที่สุด โดยตำแหน่งเขาเป็นพิราบสื่อสารแห่งกองทัพอยุธยา แต่ถึงแม้จะมีข้อเสียหลายๆ อย่างแต่จิ๊ดริดก็เป็นนกที่มีจิตใจดีงาม กล้าหาญ และรักความยุติธรรม เมื่อได้รู้จักกับการก้านกล้วยและเห็นแววของช้างตัวนี้ เขาก็ให้การสนุบสนุน ทุกวิถีทาง โดยทำตัวไม่ต่างจากพี่เลี้ยงที่คอยให้คำปรึกษาและให้กำลังใจก้านกล้วยเสมอมา
งวงแดง — พลายพัทกอ
ช้างร่างยักษ์ ผู้มีงวงสีแดงและมีดวงตาอันดุดัน เขาคือขุนศึกแห่งหงสาวดีเคยผ่านศึกสงครามมาแล้วหลายครั้ง ด้วยความโหดเหี้ยมไร้ความปราณี ทำให้เขาเป็นเหมือนเพชฌฆาตบนสมรภูมิรบเพราะสิ่งที่อยู่ในใจช้างศึกผู้นี้ก็คือ เขาจะต้องเป็นช้างอันดับหนึ่งเสมอและตลอดมาก็เป็นเช่นนั้นจริงๆไม่เคยมีช้างเชือกไหนขึ้นมาเทียบกับเขาได้ทั้งในแง่ของพละกำลังและชั้นเชิงการต่อสู้ ช้างเชือกใดที่หาญมาต่อกรกับเขาจะต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูปเพราะเช่นนี้เองแม้อายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาก็ยังคงเชื่อมั่นว่าไม่เป็นรองใครรวมทั้งก้านกล้วยช้างศึกนำทัพแห่งกรุงศรีอยุธยาด้วย
แสงดา
แม่ของก้านกล้วย นางเป็นผู้ที่ก้านกล้วยรักมากที่สุดเพราะตลอดมาก้านกล้วยมีแต่แม่ที่คอยให้ความรัก ความเอาใจใส่ และทะนุถนอมดูแล นางต้องเลี้ยงลูกตามลำพังเนื่องจากพ่อของก้านกล้วยจากไปในสงคราม และไม่ได้กลับมาอีกเลย แสงดามีความรู้สึกไม่ดีต่อมนุษย์เพราะคิดว่ามนุษย์ชอบจับช้างป่าไปทำงาน โดยเฉพาะนำไปฝึกเป็นช้างรบแบบพ่อของก้านกล้วย ดังนั้น แสงดาจึงมักสอนลูกให้เกลียดกลัวมนุษย์และก้านกล้วยก็เชื่อตามที่แม่สอนแต่เมื่อเขาได้เข้าไปอยู่กับคน เขากลับพบสิ่งที่ตรงกันข้ามนั่นก็คือจริงๆแล้วมนุษย์กับช้างอยู่ร่วมกันด้วยความรักและความผูกพัน
มะโรง
ช้างหัวหน้าพวกเด็กเกเรในโขลง เป็นช้างรุ่นพี่ของก้านกล้วยมักอาศัยความที่โตกว่าและมีพวกมากรังแกก้านกล้วยอยู่เป็นประจำ แรกๆก้านกล้วยก็พยายามข่มใจ แต่พอมะโรงกับพวกแกล้งหนักเข้า โดยเฉพาะล้อเลียนเรื่องพ่อ ก้านกล้วยก็ทนต่อไปไม่ได้ เมื่อเจอช้างที่เอาจริงอย่างก้านกล้วยก็ทำให้เห็นว่ามะโรงเก่งแต่ปาก นักเลงแต่ท่าทางท่าดีทีเหลว เป็นผู้ร้ายตลกๆไม่น่ากลัวอะไรเลย
พังนวล
ย่าของก้านกล้วย ช้างพังสูงอายุผู้มีตำแหน่งเป็นช้างแม่ปรก หรือช้างผู้นำโขลงออกหาอาหาร เนื่องจากมีอายุมากกว่าช้างตัวอื่นๆ ใช้ชีวิตอยู่ในป่ามายาวนาน ทำให้รู้ดีว่าในแต่ละฤดูกาลควรนำโขลงไปทางใดจึงจะได้พบแหล่งอาหาร พังนวลเป็นผู้ตั้งชื่อให้กับก้านกล้วยโดยดูจากลักษณะของเขาว่าเป็นช้างที่มี หลังโค้งสวยแบบแปรก้านกล้วยถูกต้องตามตำรานางรักและภาคภูมิใจในก้านกล้วยมากนอกจากนี้ยังมั่นใจด้วยว่าโตขึ้นเขาจะต้องกลายเป็นช้างที่ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน
ลุงทะเรียน-ควาญมะหูด
ชายชราผู้เป็นหัวหน้าควาญช้าง และผู้ฝึกสอนช้างป่าประจำหมู่บ้าน มะหูดได้รับความ เคารพจากทุกคนในหมู่บ้าน ในฐานะผู้ที่รอบรู้เรื่องช้าง สามารถฝึกช้างที่ดุร้ายให้เชื่องได้ภายในเจ็ดวันและนอกจากวิชาฝึกช้างที่สืบทอดมาจากรุ่นปู่รุ่นพ่อแล้ว เขายังเป็นผู้เชี่ยวชาญทาง คาถาอาคมมีมนต์สะกดช้างที่ร่ำเรียนมาจากพราหมณ์ผู้เฒ่าอีกด้วย ทว่าหลักสำคัญที่เขาใช้เวลาฝึกช้าง กลับไม่เกี่ยวกับเวทย์มนตร์คาถาใดๆ แต่เป็นเรื่องของการให้ความรัก การดูแล เอาใจใส่ และการใช้คำพูดที่นุ่มนวล ซึ่งทำให้ช้างเชื่อฟังได้ในที่สุด
ประวัติผู้กำกับคมภิญญ์ เข็มกำเนิด
เกือบสองทศวรรษที่ผู้กำกับชาวไทยคนนี้ คลุกคลีอยู่ในวงการแอนิเมชั่นมาโดยตลอดเริ่มจากการเรียนในภาควิชานิเทศน์ศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรซึ่งในครั้งนั้นเขาได้ทดลองทำงานแอนิเมชั่นของตัวเองเป็นเรื่องแรกหลังจากเรียนจบเขาได้ออกมาทำงานด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแต่ถึงอย่างนั้นความรักต่องานแอนิเมชั่นก็ยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเรียนต่อโดยตรงทางด้านแอนิเมชั่นโดยสถาบันที่เขาเลือกคือ California Institute of the Arts หรือ CAL Arts ซึ่งเป็นสถาบันสอนแอนิเมชั่นที่ได้รับการรับรองว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตลอดช่วงเวลาที่เขาอยู่ในสถาบันแห่งนี้เขาได้สร้างสรรค์งานแอนิเมชั่นขนาดสั้นออกมาหลายชิ้นได้แก่ Itch, School of Fish และ Hide, go Seek ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อที่เขาจะได้ก้าวเข้าไปสู่โลกของแอนิเมชั่นเต็มตัว
เมื่อเรียนจบเขาเริ่มงานแรกกับ Walt Disney โดยทำงานในตำแหน่ง In — between Animator ให้กับภาพยนตร์เรื่อง Atlantis และ Tarzan จากนั้นก็ย้ายมาร่วมงานกับ Blue Sky Studios ในตำแหน่งที่สำคัญยิ่งขึ้นนั่นก็คือ Character Animator ของ Ice Age ภาพยนตร์คอมพิวเตอร์แอนิเมชั่นที่ทำเงินไปทั่วโลก สุดท้ายเขาได้นำประสบการณ์ทั้งหมดกลับมาเมืองไทยและเข้าร่วมกับบริษัทกันตนาแอนนิเมชั่นสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชั่นของไทยเริ่มจากแอนิเมชั่นซีรีส์ชุด “ ซน 100 %” ซึ่งเขาได้ทำงานในตำแหน่งผู้กำกับเป็นครั้งแรกก่อนที่จะมาถึงงานที่มีความสำคัญที่สุดในชีวิตนั่นก็คือ ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องก้านกล้วย นี่คือผลงานที่เขาเชื่อมั่นว่าด้วยความรักและการทุ่มเทที่เขามีให้จะสร้างความสุข ความสนุกสนานและความประทับใจให้กับผู้ชมไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหนก็ตาม
บริษัทผู้สร้าง กันตนาแอนนิเมชั่นจำกัด
บริษัท กันตนา กรุ๊ป เป็นบริษัทของไทย ที่ดำเนินงานทางด้านธุรกิจบันเทิงครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ , ภาพยนตร์ , โฆษณา , หนังสือ , เพลง และ ฯลฯ ทั้งการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองและการให้บริการทางด้านอุปกรณ์ถ่ายทำ , สตูดิโอ , ห้องตัดต่อ , ฟิล์ม , ซาวด์แลป และอีกมากมาย หนึ่งในธุรกิจของ บริษัท กันตนา กรุ๊ป คือการผลิตผลงานแอนิเมชั่น โดยได้มอบหมายให้ บริษัท กันตนา แอนิเมชั่น เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบงานส่วนนี้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2530 บริษัท กันตนา แอนิเมชั่น ได้ถือกำเนิดขึ้น และเริ่มต้นจากการทำงาน 2D Animation โดยร่วมกับบริษัทโตเอะ หนึ่งในบริษัทแอนิเมชั่นที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ผลิตผลงานการ์ตูนดัง ๆ อย่าง เซเลอร์มูน , ดรากอนบอล , สแลมป์ดังก์ และเซนด์ เซย่า ขึ้นมาจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา กันตนายังคงทำงานแอนิเมชั่นมาอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากที่ทำงานร่วมกับโตเอะได้ระยะหนึ่งก็หันมาทำงานด้าน 3D Animation ให้กับงานโฆษณา,ภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์และ ฯลฯ ทั้งในรูปแบบของงานแอนิเมชั่น,คอมพิวเตอร์กราฟฟิคและสเปเชียลเอฟเฟกต์ต่างๆส่งผลให้ได้รับรางวัลมากมายและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยประสบการณ์เหล่านี้เองทำให้กันตนาเกิดความมั่นใจที่จะสร้างผลงานแอนิเมชั่นของตัวเองอย่างแท้จริงขึ้นมาโดยเริ่มจากโครงการแอนิเมชั่นเรื่องแรกนั่นก็คือ “ ซน 100 %” การ์ตูนแอนิมเชั่นในแบบฉบับทีวีซีรีส์ซึ่งถูกปล่อยออกมาชิมลางทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7และได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยมจากแอนิเมชั่นซีรีส์กันตนาตัดสินใจสร้างสรรค์ผลงานที่ใหญ่ยิ่งกว่าได้แก่ภาพยนตร์แอนิเมชั่นขนาดยาว โดยเริ่มต้นโครงการที่คิดฝันกันมายาวนาน นั่นก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง “ก้านกล้วย” เรื่องราวของช้างทรงในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีส่วนกอบกู้เอกราชของชาติไทย เมื่อครั้งสงครามยุทธหัตถีปี 2135 ภาพยนตร์เรื่องนี้นอกจากจะนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแล้วยังแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคนกับช้าง รวมถึงธรรมชาติของช้างไทยอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิถีแห่งความเป็นไทย ซึ่งทางกันตนาตั้งใจนำเสนอออกสู่สายตาชาวโลกและในปี 2549 นี้ “ก้านกล้วย” ก็จะได้ฤกษ์เปิดศักราชใหม่ให้กับภาพยนตร์แอนิเมชั่นของไทย ในฐานะภาพยนตร์ 3D Animation เรื่องแรกที่เกิดจากฝีมือคนไทยด้วยประสบการณ์และความทุ่มเทในทุกด้าน กันตนาเชื่อว่านี่จะเป็นผลงานที่คนไทยทั้งประเทศจะได้มีส่วนภาคภูมิใจอย่างแท้จริง
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ