กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--กฟผ.
3 ผู้บริหารสูงสุด กฟผ. ปตท. กฟน. ยืนยันความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นให้แก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของบริษัท DCAP ทั้งทางด้านการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการดูแลความมั่นคงของระบบไฟฟ้าที่มีระบบป้องกันการเกิด ไฟฟ้าตก ไฟฟ้าดับ รวมไปถึงกระบวนการผลิตน้ำเย็นเพื่อเครื่องปรับอากาศ ในบริเวณอาคารที่พักผู้โดยสาร
นายไกรสีห์ กรรณสูต ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมด้วย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และ นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด (District Cooling System and Power Plant : DCAP) (DCAP) ร่วมกล่าวถึงความพร้อมในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นให้แก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กันยายน 2549
นายไกรสีห์ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าที่ กฟผ. นำมาติดตั้งเป็นโรงไฟฟ้า Combine Heat Power (CHP) ประกอบด้วยเครื่องกังหันแก๊ส ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 25 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง เป็นเครื่องที่บริษัท DCAP ซื้อจาก กฟผ. ซึ่งได้ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพใหม่ทั้งหมด อายุการใช้งานอีกไม่น้อยกว่า 25 ปี กับงานติดตั้งระบบผลิตไอน้ำที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้าได้อีก 12 เมกะวัตต์ และระบบผลิตน้ำเย็นเพื่อใช้ในระบบปรับอากาศของอาคารผู้โดยสาร อาคารเทียบเครื่องบินของท่าอากาศยานและอาคารครัวการบินไทย ซึ่งถือเป็นกระบวนการผลิตที่มีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง นอกจากนี้ กฟผ. ยังรับจ้างดำเนินการในด้านการควบคุมการเดินเครื่องและบำรุงรักษาทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าและระบบผลิตน้ำเย็นให้กับบริษัท DCAP อีกด้วย โดย กฟผ. ได้จัดทีมงานวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการผลิตและบำรุงรักษาดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับด้านเชื้อเพลิงที่จะใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าของบริษัท DCAP นั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า ปตท. มีความพร้อมที่จะจัดส่งก๊าซธรรมชาติให้กับทางบริษัท DCAP ตามสัญญาตลอด 25 ปี รวมทั้งยังมีความพร้อมที่จะขยายการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในโครงการอื่นๆ เพิ่มขึ้น อาทิ โครงการ DCAP ส่วนขยาย โครงการติดตั้งสถานีบริการ NGV และโครงการอื่นๆ รองรับการขยายตัวของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ ปตท. จะจัดส่งก๊าซฯ ผ่านระบบท่อส่งก๊าซฯ ขนาด 8 นิ้ว ความยาว 2 กิโลเมตร ซึ่งเชื่อมต่อจากระบบท่อส่งก๊าซฯ บริเวณถนนกิ่งแก้ว — ลาดกระบัง เข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่อส่งก๊าซฯ เส้นนี้มีความสามารถในการขนส่งก๊าซธรรมชาติได้สูงสุดถึง 25 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่การผลิตของบริษัท DCAP ในปัจจุบันใช้ก๊าซฯ อยู่ระหว่าง 7-14 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปตท. จึงมีความสามารถที่จะขยายกำลังการส่งก๊าซฯ ได้อีกอย่างไม่มีปัญหา
ทางด้านผู้ว่าการ กฟน. เปิดเผยว่า ระบบไฟฟ้าของท่าอากาศยานสุวรรณภูมินอกเหนือจากการรับไฟฟ้าจากบริษัท DCAP แล้ว กฟน. ยังเตรียมพร้อมเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ โดยดำเนินการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบไฟฟ้าแรงดัน 115,000 โวลท์ หรือ115 กิโลโวลต์ 2 วงจร จากสถานีไฟฟ้าต้นทางอ่อนนุช และสถานีไฟฟ้าต้นทางหนองจอก ซึ่งรับกระแสไฟฟ้าจาก กฟผ. โดยสายส่งแต่ละวงจรมีขีดความสามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 150 เมกะวัตต์ และหากกระแสไฟฟ้าจากวงจรใดขัดข้อง ภายในสนามบินก็ยังมีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากอีกวงจรหนึ่งจะทำงานทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัญหาไฟดับหรือไฟตก เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้ามายังสถานีย่อยสุวรรณภูมิซึ่งตั้งอยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ผู้ว่าการ กฟน. เปิดเผยต่อไปว่า กฟน.ได้มีการประสานการจ่ายไฟฟ้าให้ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิ ร่วมกันระหว่างบริษัท DCAP กฟผ. และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มาโดยตลอด รวมถึงจัดทำแผนซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในสถานีต้นทางทั้ง 2 แห่ง และตลอดแนวสายส่งที่จ่ายไฟให้ท่าอากาศยานตั้งแต่สถานีต้นทางถึงสถานีย่อยสุวรรณภูมิ พร้อมกันนี้ยังนำระบบคอมพิวเตอร์ SCADA เข้ามาใช้ในการควบคุมระบบไฟฟ้า ทำให้มีการจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วหากเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง
ผู้บริหาร 3 หน่วยงานกล่าวยืนยันร่วมกันในตอนท้ายว่า ขณะนี้บริษัท DCAP มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ในการผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นให้แก่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ และหากในอนาคตมีการขยายงานของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งสามหน่วยงานก็พร้อมร่วมมือขยายกำลังผลิตเพื่อรองรับได้ต่อไป
- ม.ค. ๒๕๖๘ ลงนาม ซื้ออุปกรณ์ GIS 230 เควี สำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- ม.ค. ๒๕๖๘ ปตท. — กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา
- ม.ค. ๒๕๖๘ ปตท. — กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา