กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
นายแพทย์สมยศ เจริญศักดิ์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยข้อมูลทางโภชนาเกี่ยวกับอัตรา การบริโภคน้ำตาลของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก ๑๒.๗ กิโลกรัม/คน/ปี ในปี ๒๕๒๖ เป็น ๒๖.๑๙ กิโลกรัม/คน/ปี ในปี ๒๕๔๘ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า คนไทยมีการบริโภคน้ำตาลมากขึ้นถึง ๒ เท่า ซึ่งเป็นอัตราที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการบริโภคอาหารรสหวาน นอกจากจะเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคอ้วนและโรคฟันผุแล้ว ยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเรื้อรังอีกมากมายเมื่ออายุมากขึ้น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเบาหวาน ที่สำคัญผู้ที่นิยมรับประทานอาหารรสชาติหวานบ่อย ๆ ภาวะสมดุลของแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ จะเสีย ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ติดเชื้อ ได้ง่าย เกิดอาการเหนื่อยง่าย ไม่กระฉับกระเฉง โดยเฉพาะเด็กที่บริโภคอาหารรสหวานจัด จะทำให้ ความอยากอาหารลดลง เบื่ออาหาร มีภาวะโภชนาการเกิน เป็นผลให้เกิดโรคอ้วน และเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย
นายแพทย์สมยศ กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาน้ำตาลในตลาดที่กำลังขาดแคลนในขณะนี้ อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ประชาชนจะให้ความสำคัญในการลดปริมาณการบริโภคน้ำตาลลง และหันมาบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการกันมากขึ้น ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มีนิสัยบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น นิยม ปรุงอาหารก่อนชิม โดยเฉพาะน้ำตาล ซึ่งมักเติมคราวละมาก ๆ หรือเวลาปรุงประกอบอาหารต้องเติมน้ำตาลด้วยทุกครั้ง นอกจากนี้น้ำตาลยังแฝงมากับอาหารฟุ่มเฟือยอื่น ๆ ที่ไม่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย อาทิ น้ำหวาน น้ำอัดลม ลูกอม เยลลี่ ตลอดจนการใช้น้ำตาลเติมน้ำชา กาแฟ โอวัลติน ทำให้ได้รับพลังงานเพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่ความจริงเราจะได้รับรสหวานจากการกินอาหารในกลุ่มข้าว แป้ง และผลไม้อยู่แล้ว การได้รับความหวานจากอาหารดังกล่าวอีก จะทำให้ได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ทั้งนี้น้ำตาลเป็นอาหารที่ไม่ควรบริโภคเกินวันละ ๒๔ กรัม หรือ ๖ ช้อนชาต่อวัน คิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของปริมาณพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
(ที่มา : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมอนามัย โทร.๐ ๒๕๙๐ ๔๐๙๖)--จบ--