เอกรัฐโซล่าร์ เนื้อหอม เตรียมลุยโรดโชว์ต่างประเทศ โชว์ศักยภาพโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แห่งแรกของไทย

พฤหัส ๓๑ สิงหาคม ๒๐๐๖ ๑๓:๓๐
กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--124 คอมมิวนิเคชั่น
บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด (บริษัทย่อย) ผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า และธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย เตรียมรุกตลาดโซล่าร์เซลล์ในต่างประเทศ ประเดิมเดินสายโรดโชว์เทคโนโลยีและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ในงานประชุมเพื่อการพัฒนานโยบายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์แห่งสหพันธ์ยุโรป European Photovoltaic Solar Energy Conference and Exhitbition ครั้งที่ 21 ที่จะมีขึ้น ณ เมืองเดรสเด็น ประเทศเยอรมนี หวังสร้างชื่อในหมู่ผู้ประกอบการในธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ในต่างประเทศ
ดร.วิวัฒน์ แสงเทียน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด เปิดเผยถึงรายละเอียดในการเป็นผู้ประกอบการไทยรายเดียวในการร่วมงานดังกล่าวว่า เอกรัฐโซล่าร์ได้รับการติดต่อจากกลุ่มสหพันธ์ยุโรปเพื่อการพัฒนานโยบายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้ร่วมงานประชุมดังกล่าว เพื่อร่วมแสดงผลงานและเทคโนโลยีของเอกรัฐโซล่าร์ ในฐานะผู้ประกอบการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ซึ่งมีโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ที่จะแล้วเสร็จในปี 2550 ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แห่งแรกในภูมิภาค ซึ่งบริษัทฯ ได้ตอบตกลงในการร่วมงานดังกล่าว ที่จะมีขึ้นในวันที่ 4 — 8 กันยายน 2549 ณ เมืองเดรสเด็น ประเทศเยอรมัน ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อันดับหนึ่งของโลก
“การเข้าร่วมงานประชุมดังกล่าว ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเอกรัฐโซล่าร์ ในการสร้างชื่อเสียงของบริษัทฯ ให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ เพราะในงานดังกล่าวจะมีตัวแทนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จากทั่วโลกเข้าร่วมงาน จึงถือว่านอกจากจะเป็นเกียรติในฐานะบริษัทฯคนไทยรายแรกที่ได้ร่วมงานดังกล่าวแล้ว ยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการประกาศศักยภาพของอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย” ดร.วิวัฒน์ กล่าว
นอกจากนี้ การเข้าร่วมงานประชุมดังกล่าว ยังถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งในแผนรุกตลาดต่างประเทศของธุรกิจผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัทฯอย่างชัดเจน เนื่องจากประเทศเยอรมัน ถือเป็นศูนย์กลางของธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ของยุโรป และที่ผ่านมาในกลุ่มประเทศยุโรปมีอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ที่สูงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อีกทั้งเอกรัฐ โซล่าร์มีการจำหน่ายแผงเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่ลูกค้าในกลุ่มประเทศยุโรปเป็นสัดส่วนที่สูงมาก โดยเฉพาะในประเทศเยอรมันมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเยอรมันที่มีอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา อัตราการเติบโตและสภาพอุตสาหกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในตลาดโลกมีการขยายตัวสูงถึงกว่า 38 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อันเนื่องมาจากนโยบายการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกระแสความตื่นตัวอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมดังกล่าวมีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้น และจากการคาดการณ์ของ Credit Lyonnais Security Asia (CLSA) ได้ประมาณการว่ามูลค่าอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์จะขยายตัวจาก 290,000 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 1,250,000 ล้านบาท (25 พันล้านยูโร) ในปี 2553 โดยคาดว่าจะมีจำนวนเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผลิตและจำหน่ายถึง 5.3 กิกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทยเริ่มมีการเติบโตที่ชัดเจนมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐได้มีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงและเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ อาทิ มาตรการกำหนดสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทน (Renewable Portfolio Standard : RPS) และ โครงการโซล่าร์โฮม อีกทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น เหล่านี้จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการทางด้านพลังงาน พร้อมที่จะหันมาใช้พลังงานทดแทนรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ถือว่าเอกรัฐวิศวกรรมเป็นผู้ประกอบการรายแรกที่ได้เตรียมพร้อมกับสถานการณ์ดังกล่าว และทันทีที่มาตรการนี้ประกาศใช้อย่างชัดเจน เชื่อว่า ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์จะมีการเติบโตในทิศทางที่ดีกว่าที่กำลังการผลิตจะสนองความต้องการของตลาดได้
นอกจากนี้ ดร.วิวัฒน์ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ว่า ขณะโรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ โดยจะมีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทำการติดตั้งในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อจะแล้วเสร็จและเริ่มการผลิตได้ในต้นปี 2550 แน่นอน
“โรงงานผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เอกรัฐโซล่าร์ที่จะแล้วเสร็จในต้นปี 2550 นั้น ได้วางแผนสำหรับกำลังการผลิตในระยะแรกที่ 25 เมกะวัตต์ต่อปี และจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตไปจนถึง 50 เมกะวัตต์ โดยมีการตั้งเป้าการผลิตในระยะแรกไว้ที่ 12 เมกะวัตต์ โดย 6 เมกะวัตต์แรกจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการอยู่ และอีก 6 เมกะวัตต์จะส่งออกไปขายในประเทศจีน อินเดีย ไต้หวัน และยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ค่อนข้างสูง นอกจากนั้นจากการประเมินราคาเซลล์ในปัจจุบัน คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มจากการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ในปีแรกที่เริ่มดำเนินการกว่า 1,400 ล้านบาท” ดร.วิวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของงาน 21th European Photovoltaic Solar Energy Conference and Exhitbition ได้ทาง www.photvoltaic-conference.com
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คชภพ สงวนวงศ์
พรพรรณ ฉวีวรรณ
บริษัท 124 คอมมิวนิเคชั่นส จำกัด (มหาชน)
โทร 0-2662-2266
www.124comm.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version