คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีไอทีวี

พุธ ๑๓ ธันวาคม ๒๐๐๖ ๑๖:๓๗
กรุงเทพฯ--13 ธ.ค.--ศาลปกครอง
วันนี้ (๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๙) เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา ที่ห้องพิจารณาคดีที่ ๒ ศาลปกครอง อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ ถนนสาทรใต้ เขตสาทร กรุงเทพฯ นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.๔๒๔/๒๕๔๙ หมายเลขแดงที่ อ.๓๔๙/๒๕๔๙ ระหว่าง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร้อง (ผู้ฟ้องคดี) บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในคดีที่ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้านยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่พิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
คดีนี้ ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ทำสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ มีกำหนดอายุสัญญา ๓๐ ปี นับแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ โดยข้อ ๑๑ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ กำหนดว่า ผู้คัดค้านต้องนำเสนอรายการประเภทรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์รวมกันไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๗๐ ของเวลาออกอากาศทั้งหมด และช่วงเวลาระหว่าง ๑๙.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๑.๓๐ นาฬิกา (Prime Time) จะต้องใช้สำหรับรายการประเภทดังกล่าวเท่านั้น ข้อ ๕ วรรคหนึ่ง ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ กำหนดว่า ผู้คัดค้านตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ร้องเป็นอัตราร้อยละของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและภาษีอากร ดังนี้ ปีที่ ๓ อัตราร้อยละ ๒๒.๕ ปีที่ ๔—๖ อัตราร้อยละ ๓๕ ปีที่ ๗—๓๐ อัตราร้อยละ ๔๔ โดยผู้คัดค้านประกันผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำให้แก่ผู้ร้อง ดังนี้ ปีที่ ๓ ขั้นต่ำ ปีละ ๓๐๐ ล้านบาท ปีที่ ๔-๑๐ เงินขั้นต่ำเพิ่มขึ้นปีละ ๑๐๐ ล้านบาท ปีที่ ๑๑-๓๐ เงินขั้นต่ำรวมจำนวน ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้ โดยเปรียบเทียบกับจำนวนเงินที่คำนวณได้ตามอัตราส่วนร้อยละของรายได้ จำนวนไหนมากกว่าให้ถือตามจำนวนนั้น นอกจากนี้ ข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ กำหนดถึงกรณีที่ผู้ร้องหรือหน่วยงานของรัฐให้สัมปทานอนุญาตหรือทำสัญญาใด ๆ กับบุคคลอื่นเข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ โดยมีการโฆษณาหรืออนุญาตให้โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกทำการโฆษณาได้ และเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินอย่างรุนแรง เมื่อผู้คัดค้านร้องขอ ผู้ร้องจะพิจารณาและเจรจากับผู้คัดค้านโดยเร็วเพื่อหามาตรการชดเชยความเสียหายที่ผู้คัดค้านได้รับจากผลกระทบดังกล่าว ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้คัดค้านได้มีหนังสือถึงผู้ร้องอ้างว่าได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินอย่างรุนแรง ๓ กรณี ทำให้ผู้คัดค้านขายโฆษณาได้น้อยลง ดังนี้ กรณีที่หนึ่งกองทัพบกได้ทำสัญญาต่างตอบแทน (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๔๑) ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ให้บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด เช่าและใช้เวลาออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗ มีกำหนดระยะเวลา ๒๕ ปี นับแต่วันทำสัญญาและกำหนดค่าเช่าเวลาตลอดอายุสัญญา เป็นเงิน ๔,๖๗๐ ล้านบาท กรณีที่สอง บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกโดยห้ามมีการโฆษณา แต่บริษัทดังกล่าวได้มีการให้บริการโฆษณาทางโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกดังกล่าว และกรณีที่สาม สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งห้ามมิให้มีการโฆษณา ได้ทำการโฆษณาในช่วงการถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๐ และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อน ปี ๒๐๐๐ และหลังจากนั้นก็ยังคงออกอากาศโดยมีการโฆษณาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ผู้คัดค้านขอให้ผู้ร้องพิจารณาหามาตรการเพื่อชดเชยความเสียหายแก่ผู้คัดค้านตามข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยปรับลดค่าสัมปทานลง และยกเลิกข้อกำหนดในเรื่องสัดส่วนเนื้อหาสาระของรายการและข้อจำกัดเรื่องผังรายการ ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้คัดค้านมิได้รับความเสียหายทางการเงินอย่างรุนแรงแต่อย่างใด ผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยจึงเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้นคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๒๙/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๔/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗ ว่า กรณีดังกล่าวนี้ ผู้คัดค้านได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินอย่างรุนแรงเข้าเงื่อนไขตามข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ ผู้คัดค้านได้ร้องขอให้ผู้ร้องพิจารณาชดเชยความเสียหายแล้ว แต่ผู้ร้องไม่รับพิจารณา ผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญา จึงวินิจฉัยให้ผู้ร้องชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้านกรณีกรมประชาสัมพันธ์ยอมให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง ๑๑ มีการโฆษณา เป็นเงินจำนวน ๒๐ ล้านบาท ให้ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง ของสัญญาให้เหลือเท่ากับจำนวนค่าเช่าอัตราสูงสุดที่บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ชำระให้แก่กองทัพบก คือ ปีละ ๒๓๐ ล้านบาท โดยไม่ต้องชำระเงินขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในแต่ละปีอีก และให้ปรับลดเงินผลประโยชน์ตอบแทนเป็นอัตราร้อยละจากเดิมลงเหลือเท่ากับอัตราสูงสุดที่บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชำระให้แก่ อ.ส.ม.ท. ตามสัญญาร่วมดำเนินกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก คือ อัตราร้อยละ ๖.๕ ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายและภาษีอากรใด ๆ แล้วแต่จำนวนใดมากกว่าให้ชำระตามจำนวนที่มากกว่านั้น ให้ผู้ร้องคืนเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้คัดค้านได้ชำระโดยมีเงื่อนไขระหว่างพิจารณาข้อพิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน จำนวน ๕๗๐ ล้านบาท ให้ผู้คัดค้านสามารถออกอากาศในช่วงเวลา Prime Time คือ ช่วงเวลาระหว่าง ๑๙.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๑.๓๐ นาฬิกา ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดเฉพาะรายการข่าว สารคดีและสารประโยชน์เท่านั้น และให้ปรับสัดส่วนการเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของเวลาออกอากาศทั้งหมด เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของเวลาออกอากาศทั้งหมด ผู้ร้องเห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในสัญญาเข้าร่วมงานฯ อันเป็นเนื้อหาของบริการสาธารณะโดยปราศจากการตรวจสอบจากรัฐ ข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา เนื่องจากการเพิ่มเติมสัญญาข้อดังกล่าวมิได้นำกลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในสัญญาอนุญาโตตุลาการ จึงยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญของสัญญาซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาโดยมิได้เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น ข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯจึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่อาจอาศัยข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ มีคำวินิจฉัยชี้ขาดกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายต่าง ๆ ให้แก่ผู้คัดค้านได้ คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม (๑) (ง) และ (๒) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๒๙/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๔/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗ ทั้งหมด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นว่า การเพิ่มเติมข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ ผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต มิได้มีหน้าที่หรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับการเข้าเสนอร่างสัญญาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ทั้งนี้ ผู้คัดค้านย่อมจะไม่ลงนามในสัญญาเข้าร่วมงานฯ ถ้าหากไม่มีการเพิ่มเติมข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ มิใช่กฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อมิได้มีการโต้แย้งไว้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองชั้นต้นจึงไม่อาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว เห็นว่า สัญญาเข้าร่วมงานดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ เป็นสัญญาที่รัฐให้สัมปทานแก่ผู้คัดค้านในการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์และผู้คัดค้านได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในการส่งวิทยุโทรทัศน์ ทั้งนี้ คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุโทรทัศน์นั้น เป็นทรัพยากรสื่อสารของรัฐที่รัฐจะต้องนำมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน การจัดให้มีสถานีวิทยุโทรทัศน์และดำเนินการส่งวิทยุโทรทัศน์ จึงเป็นบริการสาธารณะอันส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐที่มีการลงทุนหรือมีทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านเสนอผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐในอัตราที่สูงกว่าผู้เสนอเข้าร่วมงานฯ รายอื่น ๆ จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้เข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบ ยู เอช เอฟ แต่ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญา ผู้คัดค้านได้ร้องขอให้เพิ่มเติมข้อสัญญา และสำนักงานอัยการสูงสุดได้เพิ่มเติมเป็นข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ อันเป็นข้อสัญญาที่แตกต่างไปจากหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้วในสาระสำคัญ จึงไม่เป็นธรรมต่อเอกชนรายอื่นที่เสนอตัวเข้าร่วมงานฯ และไม่อาจฟังได้ว่าผู้คัดค้านสุจริต การเพิ่มเติมข้อ ๕ วรรคสี่ เข้าไว้ในสัญญาเข้าร่วมงานฯ โดยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีจึงขัดต่อมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ สัญญาเข้าร่วมงานฯ ข้อ ๕ วรรคสี่ จึงไม่ผูกพันรัฐตามกฎหมาย และถึงแม้ว่าผู้ร้องจะมิได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ ขึ้นต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่เมื่อการเพิ่มเติมข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ ได้กระทำโดยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งมาตรา ๔๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้อำนาจศาลสามารถเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวได้ ศาลปกครองจึงไม่อาจละเลยที่จะหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย สำหรับกรณีที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า หากไม่มีการเพิ่มเติมข้อสัญญาดังกล่าว ผู้คัดค้านก็จะไม่ลงนามในสัญญาเข้าร่วมงานฯ นั้น กรณีดังกล่าวผู้คัดค้านเป็นผู้เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐในอัตราที่สูงกว่าที่ได้กำหนดไว้ในประกาศเชิญชวนเข้าร่วมงานและสูงกว่าผู้เสนอเข้าร่วมงานฯ รายอื่นประมาณ ๒ เท่า ดังนั้น การที่ผู้คัดค้านจะต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐในอัตราตามที่กำหนดในสัญญาเข้าร่วมงานฯ จึงเป็นผลเนื่องมาจากข้อเสนอของผู้คัดค้านเอง มิใช่เนื่องมาจากการกำหนดของผู้ร้องแต่อย่างใด เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าข้อ ๕ วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ ขัดต่อมาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังนั้น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่วินิจฉัยว่าผู้ร้องปฏิบัติผิดสัญญาเข้าร่วมงาน ข้อ ๕ วรรคสี่ จึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม (๒) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ สำหรับกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ร้องชดเชยความเสียหายโดยให้ผู้คัดค้านสามารถออกอากาศในช่วงเวลา Prime Time คือ ช่วงเวลาระหว่าง ๑๙.๐๐ นาฬิกา ถึง ๒๑.๓๐ นาฬิกา ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดเฉพาะรายการข่าว สารคดีและสารประโยชน์ และให้ปรับสัดส่วนการเสนอรายการข่าว สารคดีและสารประโยชน์จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ ของเวลาออกอากาศทั้งหมด เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของเวลาออกอากาศทั้งหมดนั้น เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวนี้เป็นสาระสำคัญของการจัดทำบริการสาธารณะและเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์นี้ขึ้นมา คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในขอบเขตอำนาจและความรับผิดชอบของรัฐ มิใช่อยู่ในอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นเพียงเอกชนที่ได้รับแต่งตั้งจากคู่สัญญาให้มาทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาเข้าร่วมงานฯ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้จึงเป็นกรณีที่ปรากฏต่อศาลว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม (๒) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๒๙/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๔/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗ จึงเป็นคำชี้ขาดที่ศาลปกครองเพิกถอนได้ ตามมาตรา ๔๐ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
สำหรับกรณีที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ว่า หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนมหาศาล นั้น ขอชี้แจงว่า ประเด็นเกี่ยวกับค่าปรับไม่ใช่ประเด็นพิพาทที่เข้าสู่การพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น คำพิพากษาของศาลปกครองจึงไม่เกี่ยวข้องกับค่าปรับตามที่เป็นข่าว การที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จะเสียค่าปรับหรือไม่อย่างไรนั้น ต้องเป็นไปตามสัญญาที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ โดยข้อ ๑๑ วรรคสอง ของสัญญาเข้าร่วมงานฯ กำหนดว่า “หากผู้เข้าร่วมงานมิได้ดำเนินการตามผังรายการตามที่ระบุในวรรคแรก ผู้เข้าร่วมงานยินยอมชำระค่าปรับในอัตราร้อยละ ๑๐ (สิบ) ของค่าตอบแทนที่รัฐจะได้รับในปีนั้น ๆ โดยคิดเป็นรายวัน และสำนักงานมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้” กรณีเกี่ยวกับค่าปรับคู่สัญญาต้องว่ากล่าวกันเอง หากตกลงกันไม่ได้ต้องเสนอข้อพิพาทตามวิธีการที่ระบุไว้ในสัญญาฯ
กลุ่มสื่อมวลชนสัมพันธ์ สำนักเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
๑๙๕ อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ ชั้นที่ ๓๑ ถ.สาทรใต้ เขตสาทร กทม. ๑๐๑๒๐
โทร. ๐ ๒๖๗๐ ๑๒๐๐-๖๓ ต่อ ๑๐๐๒, ๑๐๐๔ โทรสาร ๐-๒๒๘๖-๐๒๐๒
๑๙๕ Empire Tower ๓๑rd Floor Sathon Tai, Bangkok ๑๐๑๒๐
Tel. ๐ ๒๖๗๐ ๑๒๐๐-๖๓ Ext. ๑๐๐๒, ๑๐๐๔ Fax ๐-๒๒๘๖-๐๒๐๒
www.admincourt.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version