กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดการประชุมวิชาการประจำปี “ยุทธศาสตร์วิจัยสู่นโยบายประกันสังคม” มีผู้ทรงคุณวุฒิ / นักวิชาการ ภาคราชการ - เอกชน ตัวแทนนายจ้าง - ลูกจ้าง คณะกรรมการทั้ง 2 กองทุน และสื่อมวลชน กว่า 300 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ต่อผลงานการวิจัยทั้ง 2 กองทุน
นายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง การประชุมวิชาการประจำปี 2549 ว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สำนักงานประกันสังคมจัดขึ้นทุกๆ ปี เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยต่อสาธารณะ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยว่าจะนำมาซึ่งองค์ความรู้ และเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบาย การแก้ปัญหา และการพัฒนาระบบงานประกันสังคม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการและความพึงพอใจของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และสังคม
ในแต่ละปีสำนักงานประกันสังคมจะคัดเลือกผลงานวิจัยที่มีเนื้อหาวิชาการที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งปีนี้จะจัดให้มีการบรรยาย อภิปราย วิพากษ์ผลงานวิจัย ตลอดจนซักถามได้ในวันพุธที่ 13 กันยายน 2549 ณ ห้องริชมอนด์ แกรนด์บอลรูม โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายสมศักดิ์ เทพสุทิน มาเป็นประธานในงาน และนายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ให้การบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ยุทธศาสตร์วิจัยสู่นโยบายประกันสังคม”
ทั้งนี้ มีการนำเสนอผลงานวิจัยจำนวน 8 เรื่องที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน โดยจัดขึ้น 3 เวที คือ เวทีที่ 1 เสนอประเด็นเกี่ยวกับ “สื่อกับการประกันสังคม” นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องการศึกษาการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเรื่องการประกันสังคมจากสื่อต่างๆ ของผู้ประกันตนเพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ของสำนักงานประกันสังคม เวทีที่ 2 นำเสนอผลงานวิจัยในประเด็น “ความผิดปกติของกล้ามเนื้อ - กระดูก/ปัญหาจากฝุ่นและโรคระบบทางเดินหายใจ” โดยนำเสนอผลงานวิจัย 5 เรื่อง อาทิ เรื่องการประเมินความเสี่ยงอันเนื่องมาจากชีวกลศาสตร์จากการทำงานในพนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เรื่องการสัมผัสฝุ่นและสมรรถภาพปอดของคนงานโรงสีข้าวขนาดใหญ่ เป็นต้น และ เวทีที่ 3 ประเด็นเกี่ยวกับ “การบริหารจัดการ” เสนอผลงานวิจัย 2 เรื่อง คือ เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพของการลดการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้าง และเรื่องโครงการศึกษาเพื่อหารูปแบบโครงสร้างการบริหารจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานสำหรับประเทศไทย โดยทั้ง 3 เวที มีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมวิพากษ์ผลงานวิจัย
เลขาธิการฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า การประชุมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อสำนักงานประกันสังคมในการนำความรู้ ความเข้าใจในผลงานวิจัยมาขยายผลเพื่อสนองตอบความต้องการและความพึงพอใจสูงสุดของนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมต่อไป
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สารนิเทศ สายด่วน 1506 www.sso.go.th