นายกาหลง ทรัพย์สอาด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่าในปี พ.ศ. 2564 ไปรษณีย์ไทยยังคงเดินหน้าในการสนับสนุนการขนส่งโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะใช้บริการธุรกิจ e-Commerce มากยิ่งขึ้น โดยผู้ให้บริการขนส่งในตลาดขณะนี้มีลักษณะการให้บริการที่ใกล้เคียงกัน คือ เน้นที่ความเร็ว ความรับผิดชอบ และตั้งราคาให้ต่ำเพื่อทำการแข่งขัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน ไปรษณีย์ไทยในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการด้านการสื่อสารและขนส่งของไทย จึงเดินหน้ายกระดับการให้บริการด้านโลจิสติกส์มากยิ่งขึ้นเพื่อความสะดวกสบายของผู้ใช้บริการ ดังนี้
- เร่งพัฒนาคลังสินค้าครบวงจร
เดิมไปรษณีย์ไทยเน้นขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่ในปีหน้าไปรษณีย์ไทยมีแผนการดำเนินการด้าน Supply Chain ให้ครอบคลุม โดยเฉพาะกับกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ปัจจุบันมีการซื้อขายสิ่งของออนไลน์มากขึ้น คือการทำคลังสินค้าครบวงจร อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ามากขึ้น ด้วยแนวคิด หยิบ-พิค-แพค-แปะ-ส่ง ซึ่งบริการ Fulfillment แบบครบวงจร สามารถนำสินค้ามาเก็บไว้ที่คลัง เมื่อมีคำสั่งซื้อก็สามารถรวบรวมจัดส่งสินค้าได้ โดยในช่วงปลายปีพ.ศ. 2563 นี้ ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เห็นได้จากงานกาชาดออนไลน์ 2563 ที่ในปีนี้ร้านค้าใหญ่ ๆ หลายร้านใช้บริการคลัง Fulfillment ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งไปรษณีย์ไทยจะค่อย ๆ ขยายการให้บริการไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด โดยนำพื้นที่ของไปรษณีย์มาปรับเป็นคลังสินค้าย่อย
- รถขนส่งควบคุมอุณหภูมิ
เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก ผลผลิตทางการเกษตรจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้น ไปรษณีย์ไทยจึงร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมต่าง ๆ ภายในสังกัดที่มีผักผลไม้ที่ต้องควบคุมอุณหภูมิเมื่อมีการขนส่ง โดยพัฒนาและยกระดับระบบโลจิสติกส์ให้มีมาตรฐานและครอบคลุมการจัดส่งของสด อีกทั้งในปัจจุบันการแข่งขันในการจัดส่งสิ่งของแช่แข็งยังมีน้อยราย ไปรษณีย์ไทยในฐานะผู้นำด้านการขนส่ง จึงได้ริเริ่มการให้บริการด้วยรถขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งอยู่ระหว่างทดลองการจัดส่งในภาคธุรกิจรายย่อย โดยได้ร่วมมือกับ ททบ.5 และในปีพ.ศ.2564 มีแผนที่จะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์กระจายสินค้าของไปรษณีย์ไทย 15 จุดในปัจจุบันได้เริ่มใช้รถควบคุมอุณหภูมิแล้ว เช่น การบริการขนส่งสินค้าประเภทอาหาร ผลผลิตทางการเกษตร และของสดอื่นๆ เช่น แหนมเนือง หมูยอ ไก่ย่างเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น โดยนำร่องให้บริการในจังหวัดอุดรธานี หนองคาย นำส่งสัปดาห์ละ 2 วัน ทุกวันพุธและวันศุกร์ ซึ่งมีแผนจะเตรียมนำมาให้บริการที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อขนส่งพุทรานมสด "ทันสุข" ต่อไป
นอกจากสินค้าทางการเกษตรแล้ว ยาและเวชภัณฑ์ก็นับเป็นสิ่งที่ต้องควบคุมอุณหภูมิในการจัดส่งด้วย ไปรษณีย์ไทยจึงได้จับมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สปสช. ที่ต้องการขนส่งยาและเวชภัณฑ์ ไปยังที่อยู่ผู้รับ
- เพิ่มศักยภาพศูนย์ไปรษณีย์ชายแดน เจาะตลาดขนส่งระหว่างประเทศ
ปัจจุบันความต้องการในการจัดส่งสินค้าข้ามแดนมีมากขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วไปรษณีย์ไทยมีการแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์ระหว่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้านบริเวณชายแดน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย อยู่เป็นประจำ ในปีพ.ศ. 2564 จึงได้วางแผนในการยกระดับศักยภาพการให้บริการระหว่างด้วยการสร้างคลังเก็บและจัดการสินค้าเพื่อรองรับสินค้าที่นำเข้าและส่งออกด้วยระบบออโตเมชัน โดยเริ่มดำเนินการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีสินค้าเข้ามาจำนวนมาก
ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ปณท จะเร่งรุกแผนการตลาดและการขายบริการระหว่างประเทศปี 2564 โดยจะเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ผ่านกลยุทธ์ด้านราคา และร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อยกระดับการให้บริการระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งในส่วนของการนำสินค้ากลุ่ม e-Commerce จากต่างประเทศเข้ามาจัดส่งในประเทศไทยเอง ก็จะมีการเพิ่มบริการใหม่ ๆ เพื่อรองรับธุรกิจ e-Commerce มากขึ้น เช่น การอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ต้องเสียภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มให้ง่ายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย ยังคงเดินหน้าพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาสังคมไทยให้ทันสมัยและก้าวหน้ายั่งยืนด้วยการเป็นผู้นำทางของคนไทยทุกคน
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ : www.thailandpost.co.th
เฟซบุ๊ก : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
ทวิตเตอร์ : @Thailand_Post
ไลน์ออฟฟิเชียล : @Thailand Post
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์