เมื่อสอบถามเด็ก เยาวชน และประชาชนเกี่ยวกับความเข้าใจความหมายของคำขวัญวันเด็กพบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 80.05 เข้าใจความหมายของ "เด็กไทยวิถีใหม่" หมายถึง เด็กไทยในยุคปัจจุบันถือเป็นเด็กไทยวิถีใหม่ ที่ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การศึกษาเล่าเรียนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคแห่งการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด ซึ่งเด็กไทยจะต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อเผชิญหน้าเรียนรู้ และรับมือกับสิ่งต่างๆ ได้
อันดับ 2 ร้อยละ 58.24 เข้าใจความหมายของ "รวมไทยสร้างชาติ" หมายถึง การรวมพลังของทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าประเทศไทย เด็กและเยาวชนถือเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้เดินไปข้างหน้า ให้ตระหนักถึงความรัก ความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ
อันดับ 3 ร้อยละ 52.64 เข้าใจความหมายของ "มีคุณธรรม" หมายถึง คาดหวังให้เด็ก ในวันนี้เป็นคนดีของสังคม มีคุณธรรมจริยธรรม โดยเด็กไทยในยุคสมัยใหม่ เน้นการพัฒนาขีดความสามารถด้านจิตใจ และอารมณ์ และอันดับ 4 ร้อยละ 47.13 เข้าใจความหมายของ "ด้วยภักดี" หมายถึง ความรักในสถาบันหลักของชาติประกอบด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และปลูกฝังให้เกิดการเรียนรู้และไม่ลืมรากเหง้าของประวัติศาสตร์ความเป็นไทย
ขณะเดียวกันผลสำรวจพบด้วยว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.56 ทราบหน้าที่ของเด็กดี ที่กล่าวว่า "นับถือศาสนา รักษาธรรมเนียมประเพณีไทย เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ วาจาสุภาพอ่อนโยน ยึดมั่นกตัญญู รักการงานการเรียน ศึกษาหาความรู้ให้เชี่ยวชาญ มานะ อดทน ไม่เกียจคร้าน ประหยัด อดออม ซื่อสัตย์สุจริต มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย กล้าหาญ บำเพ็ญคุณประโยชน์ รู้บาปบุญ คุณโทษ รักษาสมบัติของชาติ รองลงมาคือ ร้อยละ 17.76 ไม่ทราบ และร้อยละ 2.68 ไม่แน่ใจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามวันเด็กปีนี้อยากได้อะไรเป็นของขวัญมากที่สุดพบว่า อยากได้ของเล่น อาทิ ตุ๊กตา หุ่นยนต์ รถหรือเรือบังคับ โมเดล โทรศัพท์ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นเกม และเงิน /ทุนการศึกษา อีกทั้งขอให้โควิดหายไปจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด และความรัก ความเข้าใจ ความเอาใจใส่จากพ่อแม่ ผู้ปกครอง นอกจากนี้ เมื่อสอบถามถึงการจัดงานวันเด็กในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พบว่า เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.18 ไม่ต้องการให้จัดกิจกรรมงานวันเด็ก รองลงมาคือ ร้อยละ 19.68 ต้องการให้จัด และร้อยละ 3.14 แล้วแต่สถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กลับเข้าสู่สภาวะปกติก่อนค่อยกำหนดวันจัดกิจกรรมงานวันเด็กอีกครั้ง โดยในปีนี้ควรงดจัดงานไปก่อน หากสถานการณ์ดีขึ้นค่อยจัดกิจกรรมงานวันเด็กในปี พ.ศ. 2565
อย่างไรก็ตาม หากจัดกิจกรรมงานวันเด็ก ผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อเสนอแนะควรจัดงานวันเด็กแห่งชาติรูปแบบออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์ยุค New Normal โดยให้เด็กและเยาวชน มีส่วนร่วมในการตอบคำถาม ปัญหาและการเล่นเกม ผ่านระบบออนไลน์ และลงทะเบียนรับรางวัล อีกทั้งควรเพิ่มการป้องกันตามมาตรการการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากอนามัย และการให้บริการเจลแอลกอฮอล์ ล้างมือบ่อย ๆ จัดให้มีจุดคัดกรองอุณหภูมิ การเว้นระยะห่าง และจำกัดคนเข้าร่วมงานไม่ให้แออัดจนเกินไป
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ผลสำรวจยังพบอีกว่า ผู้ตอบแบบสอบถามระบุข้อเสนอแนะหากจัดกิจกรรมงานวันเด็ก ควรเปิดเวทีหรือลานพื้นที่กิจกรรมให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นแสดงความสามารถที่ตนเองถนัด เช่น การแสดงดนตรี การวาดภาพ การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม และการละเล่นต่าง ๆ และกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัว พ่อ แม่ เด็กและเยาวชน หรือผู้ปกครองต้องการให้มีกิจกรรมกีฬาเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและสร้างความสามัคคี รวมทั้งกิจกรรมสร้างสรรค์ทางวิชาการ เช่น เกมตอบปัญหา หรือเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างทักษะความรู้ การวาดภาพระบายสี สิ่งประดิษฐ์ พร้อมกันนี้ผู้ตอบแบบสอบถามมีเสนอแนะให้จัดกิจกรรมวันเด็กในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน ศาลากลางจังหวัด เทศบาล อำเภอ สวนสาธารณะ สนามกีฬา สนามบิน ค่ายทหาร สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง กองทัพเรือ กองทัพบก กองทัพอากาศ และเสนอแนะด้วยว่าเจ้าภาพจัดกิจกรรมวันเด็กควรเป็นนายกรัฐมนตรี/รัฐบาล ผู้อำนวยการโรงเรียน/คุณครู กระทรวงศึกษาการ และผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ
ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม