ทีมนักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำโดย ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล ดร.จิดาภา เซคเคย์ ดร.ปิยะวุฒิ แสวงผล ดร.ธีรภัทร นวลน้อย ดร.ณัฏฐาภรณ์ ณ นคร และ ดร.ปวีณา วงศ์วิทย์วิโชติ ร่วมกันพัฒนาชุดตรวจคัดกรองแอนติบอดีโควิด-19 หรือภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 และผ่านการรับรองจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคโควิด-19 ของประเทศไทยและสากล มี 2 วิธี ได้แก่
1. ตรวจหาเชื้อไวรัส เป็นวิธีที่สามารถตรวจพบเชื้อได้ "เร็ว" ประมาณ 5-7 วัน หลังได้รับเชื้อ จึงเป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัย (การตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส ด้วยวิธี RT-PCR) โดย swab บริเวณหลังโพรงจมูกไปตรวจ และจะทราบผลการตรวจภายใน 3-5 ชั่วโมง
2. การตรวจหาภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเชื้อไวรัส เป็นวิธีการตรวจหาภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี ต่อเชื้อไวรัส (IgM/IgG) ซึ่งเป็นภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้น จะตรวจพบได้ ประมาณ 10-14 วัน หลังได้รับเชื้อ (ในระยะแรกที่ติดเชื้อไวรัส การตรวจภูมิต้านทานจะเป็นผลลบ ซึ่งไม่ได้แปลว่า บุคคลนั้นไม่ติดเชื้อโควิด-19) ซึ่งวิธีการตรวจหาภูมิต้านทาน โดยตรวจจากเลือด และจะทราบผลการตรวจภายใน 15-30 นาที (Rapid test)
สำหรับการแปลผลโดยวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัส RT-PCR หากผลเป็นบวก หมายถึง พบเชื้อโควิด-19 และหากผลเป็นลบ หมายถึง ไม่พบเชื้อโรควิด-19 (แต่อาจต้องตรวจซ้ำ ในอีก 5-7 วัน)
ส่วนการแปลผลโดยวิธีการตรวจหาภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) หากผลเป็นบวก หมายถึง เคยได้รับเชื้อมาก่อนหน้าวันตรวจ ประมาณ 10-14 วัน แต่ยังยืนยันไม่ได้ว่าเชื้อไวรัสหมดไปจากร่างกายแล้วหรือไม่ ต้องตรวจ RT-PCR ร่วมด้วย นอกจากนี้ ภูมิต้านทานที่ตรวจพบ ไม่มีหลักฐานว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ หากผลเป็นลบ หมายถึง เป็นไปได้ว่าได้รับเชื้อไวรัสมาแล้ว แต่ร่างกายไม่สร้างภูมิต้านทาน (ในช่วง 10-14 วันแรก) หรือ ยังไม่เคยได้รับเชื้อไวรัส และยืนยันไม่ได้ว่า ขณะนี้ได้รับเชื้อไวรัสมาแล้วหรือไม่ ดังนั้นผล Rapid test เป็นลบ จึงยืนยันไม่ได้ว่าปลอดภัยไม่มีเชื้อ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น ในผู้ที่มีประวัติเสี่ยงต้องตรวจ RT-PCR ร่วมด้วย
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนทั่วไปไม่แนะนำให้ใช้วิธีการตรวจภูมิคุ้มกัน (Rapid test) ในการตรวจคัดกรอง และวินิจฉัยโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัว ใส่แมสอย่างถูกต้อง ล้างมือ รักษาระยะห่าง มีความสำคัญเพื่อลดการแพร่เชื้อต่อผู้อื่น หรือป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย