เดินหน้าจัดการขยะพลาสติก - บูรณาการความร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง

จันทร์ ๑๑ มกราคม ๒๐๒๑ ๑๗:๒๖
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสนับสนุนให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work From Home) ส่งผลให้ขยะพลาสติกจากฟู้ดเดลิเวอรีเพิ่มขึ้น เห็นควรดำเนินการแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างจริงจังว่า ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนดำเนินมาตรการคัดแยกและใช้ประโยชน์มูลฝอยที่แหล่งกำเนิด ประกอบด้วย มูลฝอยอินทรีย์ นำไปใช้เลี้ยงสัตว์ หมักทำปุ๋ย หรือทำน้ำหมักชีวภาพ มูลฝอยรีไซเคิล แยกขาย เพื่อเป็นรายได้ มูลฝอยทั่วไป แยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ส่วนมูลฝอยอันตรายได้รณรงค์ให้คัดแยกเป็นการเฉพาะ เพื่อนำไปกำจัดตามหลักสุขาภิบาล สำหรับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กรุงเทพมหานครยังคงดำเนินมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมูลฝอยพลาสติกได้ขอความร่วมมือประชาชน ลด ละ เลิกการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อนส้อม ถุงพลาสติก เลือกใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิล ขณะเดียวกันได้รณรงค์ให้หน่วยงานสังกัดกรุงเทพมหานคร ลด ละ เลิก ใช้โฟม และพลาสติกอย่างจริงจัง ได้แก่ การงดจ่ายถุงพลาสติกใส่ยาสำหรับผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุข รวมทั้งเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากถุงนมเป็นกล่องนม

ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น ยังได้รณรงค์ส่งเสริมการดำเนินการตามหลัก 3 ช (3 R) ประกอบด้วย ลดการใช้ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) พร้อมจัดระบบแยกทิ้งและเก็บรวบรวมแยกประเภท โดยตั้งถังรองรับมูลฝอยในที่สาธารณะ 2 ประเภท ได้แก่ ถังสีเหลือง สำหรับทิ้งมูลฝอยรีไซเคิล และถังสีน้ำเงิน สำหรับทิ้งมูลฝอยทั่วไป รวมถึงปรับปรุงรถเก็บขนมูลฝอยให้มีช่องสำหรับใส่มูลฝอยรีไซเคิลและมูลฝอยอันตรายแยกออกจากมูลฝอยทั่วไป ตลอดจนบูรณาการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use plastic) แยกประเภทขยะตามการใช้ประโยชน์ เช่น ขายเป็นวัสดุรีไซเคิล หรือบริจาคให้หน่วยงานต่าง ๆ โดยดำเนินการร่วมกับ 7 องค์กร และ 1 ชุมชนในพื้นที่เขตคลองเตย เพื่อคัดเลือกต้นแบบที่เหมาะสม ซึ่งในปี 2564 มีแผนขยายการดำเนินงานในพื้นที่เขตคลองเตยและสำนักงานเขตอื่นอีก 1 แห่ง อีกทั้งจัดให้มีจุดตั้งถังรับบริจาคพลาสติกชนิดอ่อน ถุง และฟิล์มพลาสติกใช้แล้ว เช่น ถุงน้ำแข็ง ฟิล์มหุ้มขวดน้ำ ถุงขนมปัง ถุงหูหิ้ว ที่สำนักงานเขต ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) เพื่อให้การใช้พลาสติกเกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่จะออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงลดปริมาณมูลฝอยที่เข้าสู่ระบบกำจัดของกรุงเทพมหานครอีกด้วย

ที่มา: กทม.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ