ด้านการลงทุนนั้น เกษตรกรจะทำการลงทุนเพียงครั้งเดียวในปีแรกเฉลี่ย 1,724 บาท/รัง ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 1 - 2 ครั้ง ให้ผลผลิตน้ำผึ้งเฉลี่ย 5 ขวด/รัง/ปี (ปริมาณน้ำผึ้ง 1 ขวด =750 มิลลิลิตร) โดยเกษตรกรสามารถจำหน่ายในราคาเฉลี่ยขวดละ 464 บาท ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ต่อครัวเรือน 78,880 บาท/ปี คิดเป็นมูลค่าทั้งกลุ่ม 3,549,600 บาท/ปี สำหรับผลผลิตที่เกษตรกรขายนอกจากจะเป็นน้ำผึ้งแล้ว ยังมีการแปรรูปและการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ฅนผึ้งป่าอีกด้วย เช่น สบู่น้ำผึ้งขมิ้น แชมพูน้ำผึ้งอัญชัน ยาหม่อง เป็นต้น ส่วนใหญ่จัดจำหน่ายผ่านรูปแบบออนไลน์เพื่อขยายช่องทางการตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแบบวิถีใหม่ยุค New Normal
"ผลสำเร็จของกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงบ้านไสใหญ่ นับเป็นการรวมกลุ่มของวิสาหกิจชุมชนแบบแปลงใหญ่ ที่มีการร่วมกันผลิต ร่วมกันการแปรรูป และร่วมกันจำหน่าย ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งเกษตรกรยังได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ภายในกลุ่ม และมีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมากยิ่งขึ้นอีกด้วย ซึ่งนโยบายการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ นับเป็นนโยบายที่เป็นเกราะคุ้มกัน สอดคล้องกับนโยบายตลาดนำการผลิต สามารถสร้างรายได้ให้เกษตกรอย่างมั่นคง สำหรับท่านที่สนใจสินค้าของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงบ้านไสใหญ่ สามารถเลือกชมสินค้าได้ทาง Facebook บ้านไสใหญ่ ชุมชน : คนผึ้งป่า หรือสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 081 538 8653" รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
นอกจากนี้ สศก. ยังมีการติดตามการดำเนินงานแปลงใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เพิ่มเติม คือ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี โดยติดตามดำเนินการแปลงใหญ่ 6 สินค้า ประกอบด้วย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ทุเรียน มังคุด ปลานิล และแมลงเศรษฐกิจ ซึ่งภาพรวมการดำเนินโครงการฯ เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการอยู่ในระดับมาก เพราะมีสมาชิกสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างสม่ำเสมอ และนำไปปรับใช้เพื่อสร้างรายได้แก่สมาชิกกลุ่มอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ยังมีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง จึงนับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ นับเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกันได้ในด้านการผลิตและการตลาด และให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีแปลงใหญ่จำนวน 11 กลุ่ม รวม 91 สินค้า 77 จังหวัดทั่วประเทศ
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร