รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ กรรมการ RoboCup Board Trustee กล่าวถึง ความเป็นมาและการมีส่วนร่วมของประเทศไทยว่า หุ่นยนต์และโรโบติกส์ในปัจจุบันและอนาคต ทวีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวัน และการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม จนถึงสุขภาพและการแพทย์ในยุคการเปลี่ยนผ่านด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup ริเริ่มจัดโดยสมาพันธ์ RoboCup นานาชาติ (International Robocup Federation) จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2540 เพื่อส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ของโลก โดยเริ่มจากการแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และพหุศาสตร์หลายๆด้าน เช่น กลไกของหุ่นยนต์ การควบคุมการเคลื่อนที่ การรับรู้ของหุ่นยนต์ และการวางแผนการทำงาน เป็นต้น เหล่านี้จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักวิจัยและนักพัฒนาเล็งเห็นความสำคัญและให้ความสนใจการแข่งขันนี้ รวมถึงประเทศไทยที่ให้ความสนใจและได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขัน RoboCup อย่างต่อเนื่อง จนได้รับความสำเร็จสามารถครองแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยและหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก ในปี พ.ศ. 2545 ภายใต้การนำทีมของ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมา ในปี พ.ศ. 2559 รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง Trustee ของ International RoboCup Federation โดยจัดการแข่งขัน RoboCup การแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ขนาดใหญ่ระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2559 ประเทศไทยได้รับการทาบทามให้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ในระดับภูมิภาคเป็น Super Regional RoboCup ภายใต้ชื่อ RoboCup Asia Pacific (RCAP) 2017 ขึ้นในประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน จาก 25 ประเทศทั่วโลก ในปี พ.ศ.2560 ทางสมาพันธ์ RoboCup นานาชาติ ได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของประเทศไทย จึงเชิญให้เข้าร่วมคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup ครั้งที่ 25 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงได้เลื่อนการจัดงานออกไป และต่อมาได้สรุปกำหนดจัดงานในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 ภายใต้ชื่องาน RoboCup 2022, Bangkok, Thailand
การพัฒนาวิทยาการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม New S-Curves ของประเทศไทย การที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน RoboCup 2022, Bangkok, Thailand นั้น จึงเป็นการตอบรับต่อนโยบายของภาครัฐสู่การเป็น Thailand 4.0 ซึ่งจะเป็นการสร้าง Ecosystem ขนาดใหญ่ของประเทศ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการจัดงานระดับโลก เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และวิศวกรรมของประเทศไทยบนเวทีโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในการเสริมสร้างพัฒนาบุคลากร และเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ของประเทศ ให้มีความสามารถในระดับสากล และสามารถพัฒนาต่อยอดงานวิจัย รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจ จุดประกายการพัฒนาความสามารถของนักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ นักเรียน และนักศึกษาไทย ให้เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างประเทศ เช่น ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และรองรับแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และ EEC อีกด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความพร้อมในการดำเนินการจัดงานตามแนวทางนโยบายของกระทรวง อว. อย่างเต็มที่
ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น