ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ม.อ.เป็นสถาบันการศึกษาที่มีวิสัยทัศน์สู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อนวัตกรรมและสังคม ที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ และเป็นกลไกหลักในการพัฒนาภาคใต้และประเทศ โดยสร้างความเป็นผู้นำทางวิชาการและนวัตกรรม ซึ่งได้มุ่งส่งเสริมคณะอาจารย์และบัณฑิตให้มีความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยล่าสุด ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คว้าอันดับ 1 ใน 9 นักวิจัย ที่ได้รับการอ้างอิงผลงานสูงสุดระดับโลก (Highly Cited Researcher) 6 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2015 - 2020
สำหรับ ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล นับว่าเป็นนักวิจัยของประเทศไทยที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการวิจัยคุณภาพอาหารทะเลและการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปสัตว์น้ำ และมีผลงานการวิจัยอื่นๆ เป็นจำนวนมากเป็นที่ยอมรับในระดับโลก โดยมีผลงานได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ได้แก่ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น, รางวัลนักวิจัยแห่งชาติ, รางวัลศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.),รางวัลวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากมูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย
นอกจากนี้ยังได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 3 นักวิจัยแกนนำของไทย ประจำปี 2563 จากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จากโครงการวิจัย "การใช้ประโยชน์สูงสุดจากวัสดุเศษเหลือจากการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อเป็นส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน / นิวตราซูติคอลและสารเติมแต่งอาหารชนิดใหม่" ซึ่งได้รับสนับสนุนงบประมาณการสร้างเครือข่ายวิจัยด้านการแพทย์และอาหาร จำนวน 20,000,000 บาท เป็นต้น
ศ.ดร.สุทธวัฒน์ เบญจกุล ภาควิชาเทคโนโลยีอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับงานวิจัยที่ติดอันดับ 1 ใน 9 นักวิจัย ที่ได้รับการอ้างอิงผลงานสูงสุดระดับโลก (Highly Cited Researcher) 6 ปีซ้อน ในฐานะเป็นนักวิจัยที่ปฏิบัติงานภายใต้สังกัด International Center of Excellence in Seafood Science and Innovation มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยู่ภายใต้หน่วยงานวิจัยด้านอาหารทะเล วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมอาหารทะเล เพื่อสร้างความเป็นเลิศให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความมุ่งมั่นงานวิจัยคุณภาพอาหารทะเล และการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปสัตว์น้ำ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคใต้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปสัตว์น้ำสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ อีกทั้งยังช่วยลดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมนำองค์ความรู้หรือเทคโนโลยีใหม่ที่มีอยู่มาถ่ายทอดและบ่มเพาะให้แก่นักศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพสู่ตลาดแรงงานต่อไป
ที่มา: เอ็ม ที มัลติมีเดีย