"กระทรวงเกษตรฯ ตระหนักถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนและผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนข้อหารือที่ออกมาคาดว่าจะสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นสินค้าส่งออกของไทยได้เพราะได้หารือกับหน่วยงานรับผิดชอบของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งไทยยืนยันว่าจะรักษาระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานเพื่อรักษาชื่อเสียงของทุเรียนไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคจีนทั้งคุณภาพและความปลอดภัยในทุเรียนของไทย" รมช.เกษตรฯกล่าว
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรและสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)ได้ร่วมหารือกับผู้แทนของสำนักศุลกากร (GACC) ของจีนเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมาฝ่ายจีนแจ้งว่ารัฐบาลได้ยกระดับมาตรการควบคุมเชื้อไวรัสโควิด 2019 ที่ปนเปื้อนในสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยจะมีการสุ่มตรวจสินค้าอย่างเข้มงวดและต้องดำเนินมาตรการการฆ่าเชื้อสำหรับอาหารที่ขนส่งโดยควบคุมอุณภูมิ (Cold Chain) ตั้งแต่ด่านศุลกากร การขนส่ง การกระจายสินค้า และการจำหน่ายซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ฝ่ายจีนดำเนินการกับสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ทั้งนี้จีนชื่นชมระบบการจัดการส่งออกผลไม้ของไทยว่ามีประสิทธิภาพมาก และมีความปลอดภัยสูง โดยตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาไม่เคยตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด 2019 ในบรรจุภัณฑ์และสินค้าผลไม้จากไทย ซึ่งทางฝ่ายไทยเน้นย้ำว่าภาครัฐและภาคเอกชนของไทยได้ร่วมผนึกกำลังที่จะดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมเพื่อให้สินค้าไทยมีความปลอดภัยควบคู่ไปกับคุณภาพที่ดี
ในโอกาสนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร และมกอช. ได้นำเสนอมาตรการการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ในกระบวนการผลิตและคัดบรรจุผลไม้เพื่อการส่งออกตามแนวทางการจัดการความปลอดภัยอาหารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ( FAO )และองค์การอนามัยโลก(WHO) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติให้กับหน่วยงานของรัฐ และผู้ประกอบการผลิตอาหารในการจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยอาหารและป้องกันการปนเปื้อนอาหาร เช่น การควบคุมกระบวนการผลิต วิธีการฆ่าเชื้อและการสร้างความตระหนักให้พนักงานเพื่อป้องกันโรค เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของจีนและจีนขอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโคโรน่าในสินค้าผลไม้ต่อไป
นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ภายในสัปดาห์หน้า ไทยจะมีหนังสือแจ้งมาตรการการป้องกันไวรัสโควิด -19 ตามมาตรฐาน FAO และ WHO ที่จะให้โรงคัดบรรจุของไทยปฏิบัติไปยัง GACC เพื่อทราบรวมถึงแจ้งประชาสัมพันธ์ให้โรงงานผลิต เกษตรกร และประชาชนผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศเพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ สำหรับสาระสำคัญแนวทางการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กับความปลอดภัยสำหรับธุรกิจอาหารที่ FAO และ WHO แนะนำนั้นจะเน้นที่ระบบการจัดการความปลอดภัยอาหารเพื่อป้องกันการปนเปื้อนโดยจัดการความเสี่ยงและควบคุมจุดวิกฤตนอกเหนือจากการปฏิบัติตามโปรแกรมพื้นฐานด้านสุขลักษณะและความเหมาะสมต่อการทำงานการทำความสะอาดและการฆ่าเชื้อ การแยกพื้นที่การผลิต การควบคุมผู้ส่งมอบ การเก็บรักษา ตลอดสายการผลิต
นอกจากนั้น กำหนดให้มีการมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบหรือทีมที่พิจารณาว่าอาจมีความเสี่ยงหรือต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ โดยขอคำแนะนำจากหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยด้านอาหารมีการจัดการสุขลักษณะส่วนบุคคลของผู้ปฏิบัติงานเพื่อลดความเสี่ยงจากผู้ปฏิบัติงานที่จะนำไวรัสปนเปื้อนสู่อาหารและบรรจุภัณฑ์ มีการฝึกอบรมพนักงาน การทบทวนการฝึกอบรมพนักงาน กำหนดให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากอนามัย และถุงมืออย่างเหมาะสม มีการเว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนพนักงานที่อยู่ในพื้นที่การผลิต ลดการปฏิสัมพันธ์ และจัดสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขอนามัยอย่างเพียงพอ รวมถึงการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พนักงานหรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารต้องหมั่นสังเกตตัวเองหากมีอาการบ่งชี้ว่าอาจได้รับเชื้อ ไม่ควรมาทำงาน และดำเนินการตามมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อทันที
ทั้งนี้เมื่อ วันที่ 20 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา นายภาณุศักดิ์ สายพาณิชย์ นายกสมาคมทุเรียนไทยและกลุ่มสมาคมทุเรียนไทย ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์การส่งออกทุเรียนไทยในช่วงการระบาดของ covid 19 ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่าน ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบหนังสือ นอกจากนั้นขอให้รัฐบาลช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์มาตรฐานความปลอดภัยของผลไม้ไทยเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีนด้วย
ที่มา: กรมวิชาการเกษตร