อีอีซี จับมือ ปตท. และ กนอ. ลงทุนพัฒนาระบบห้องเย็นผลไม้ไทย ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกเพื่อยกระดับการพัฒนาภาคเกษตรใน อีอีซี

จันทร์ ๒๕ มกราคม ๒๐๒๑ ๑๖:๒๐
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดทำระบบห้องเย็น (Blast freezer & Cold storage) ภายใต้โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor : EFC ) โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ณ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) อาคาร กสท โทรคมนาคม ชั้น 25

นายสุพัฒนพงษ์ เปิดเผยว่า การเดินหน้าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ถือเป็นก้าวสำคัญ เสริมความแข็งแกร่ง สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มฐานรากสำคัญของประเทศ บันทึกความร่วมมือฉบับนี้จะพัฒนาโครงการฯ ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดย ปตท. ที่มีความพร้อมด้านห้องเย็น จะนำพลังงานความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร กนอ. จะสนับสนุนการจัดหาพื้นที่ และ สกพอ. จะประสานความร่วมมือส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ให้หน่วยงานรัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบห้องเย็น ให้บริการเก็บรักษา สินค้าคุณภาพดี สดใหม่ และรสชาติยังดีคงเดิม ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจะช่วยให้ชาวสวนไม่ต้องรีบเก็บ-รีบขาย-รีบส่ง ทำให้ไม่ได้ราคา เสียคุณภาพ และเสียชื่อเสียง เมื่อโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออกสำเร็จ ชาวสวนจะมีรายได้ดีมั่นคง สม่ำเสมอ รวมทั้งต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางเกษตรแข่งขันได้ทั่วโลกเสริมความเข้มแข็งให้ประเทศไทย ก้าวสู่ศูนย์กลางตลาดผลไม้โลก

นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนการจัดทำระบบห้องเย็น ซึ่งเป็นโครงการหลักของโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ให้สามารถขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยมอบให้ กนอ. จัดหาที่ดินในโครงการนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในระยะเริ่มต้น 40 ไร่ โดยมั่นใจว่าโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชาวสวนแล้ว ยังจะดึงดูดให้อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เข้ามาลงทุนในนิคมฯ เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงานการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

นายคณิศ กล่าวว่า โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก หรือ EFC เป็นโครงการหลักของแผนพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC ที่ปรับการทำธุรกิจให้เป็นไปตาม "ความต้องการของตลาด"  (Demand Driven Approach) คือ การวางธุรกิจทั้งระบบจากการกำหนดสินค้าและบริการที่ตลาดต้องการ ไปกำหนดวางวิธีการค้า-การขนส่ง-การเพาะปลูก ให้สนองความต้องของตลาด 

ในขณะเดียวกัน ก็จะนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยให้เกิดการปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิต โดยโครงการ EFC จึงประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญคือ

  1. ศึกษา ติดตาม ความต้องการของตลาด ในเรื่องนี้ สกพอ. กำลังศึกษาความต้องการตลาดต่างประเทศและในประเทศ ของ ทุเรียน มังคุด และผลไม้ของภาคตะวันออก เป็นโครงการที่อยู่ในงบประมาณปี 64 เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรมและผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการ
  2. การวางระบบการค้าสมัยใหม่ จะเป็นการค้าผ่าน e-commerce และ e-auction รวมทั้งการลงทุน packaging จากวัสดุธรรมชาติ ให้สามารถขนส่งทางอากาศได้สะดวก เพื่อให้ผลไม้ของภาคตะวันออกเข้าสู่ตลาดสากลได้ทันที
  3. การลงทุนทำห้องเย็นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งเป็นโครงการที่เราจะลงนาม Mou ในวันนี้
  4. การจัดระบบสมาชิก ชาวสวนผลไม้ สหกรณ์ ที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ได้ผลผลิตพรีเมียมตรงความต้องการของตลาด เรื่องนี้ได้ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง และจะส่งผลประโยชน์ให้เกษตรกรโดยถ้วนหน้า

ความร่วมมือในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 ฝ่ายคือ

  1. ปตท. จะเป็นผู้ลงทุนจัดทำระบบห้องเย็นทันสมัยขนาด 4,000 ตัน ส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยี Blast freezer เพื่อรักษาคุณภาพผลไม้ให้เสมือนเพิ่งเก็บจากสวน และระบบ Cold storage ที่จะรักษาคุณภาพผลไม้นั้นให้ขายได้ตลอดปี ไม่ต้องรีบส่งตัด-รีบขาย-รีบส่ง เช่นในปัจจุบัน
  2. การนิคมแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้หาพื้นที่ โดยกำหนดว่าจะเป็นพื้นที่บริเวณ Smart Park ที่มาบตาพุด
  3. สำนักงาน EEC จะเป็นผู้วางกลไกการบริหาร และประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาบริหารโครงการ โดยเฉพาะ เอกชนผู้เชี่ยวชาญการค้า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประโยชน์จากโครงการกลับไปสู่ประชาชนในพื้นที่

โครงการนี้จะนำร่องด้วยทุเรียน ซึ่งเป็นราชาผลไม้ของไทย รวมทั้งผลไม้อื่นๆ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น อาหารทะเล ที่ต้องการเก็บรักษาคุณภาพสินค้าให้สดใหม่ สีสรรน่ารับประทาน และสามารถนำไปขายได้ตลอดทั้งปี สร้างรายได้ที่มั่นคงกับเกษตรกรไทย นอกจากนี้ จะมีการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น กิจกรรมแปรรูปการประมูลสินค้า และการส่งออก ต่อไป 

 

 

ที่มา: คิธ แอนด์ คิน คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๔๗ เอ. เจ. พลาสท์ คว้า 2 รางวัลใหญ่ จาก SET Awards 2024 และได้รับการประเมิน CGR ดีเลิศ ระดับ 5 ดาว
๑๖:๑๓ เปิดมาตรการ พักหนี้ ลดดอกเบี้ย ช่วยเหลือ SMEs ถูกน้ำท่วมในงาน มันนี่ เอ็กซ์โป 2024 เชียงใหม่
๑๖:๓๙ หน้าหนาวมาเยือน! กรมอนามัยเตือนดูแลสุขภาพให้พร้อม เด็กเล็ก-ผู้สูงอายุเสี่ยงเจ็บป่วยง่าย
๑๖:๕๗ เปิดรันเวย์อวดผลงานไอเดียสร้างสรรค์ของ 5 ผู้ชนะรางวัลทุนการศึกษา จากโครงการ Jaspal Group Scholarship Program
๑๖:๐๘ กิฟฟารีน แนะนำไอเทมเด็ด กิฟฟารีน เอช เอ็ม บี พลัส วิตามินดี 3 สำหรับช่วยดูแลมวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
๑๕:๐๑ ไขข้อสงสัย สินเชื่อรถแลกเงินคืออะไร
๑๕:๓๘ ซื้อมอเตอร์ไซค์ ออกรถใหม่ มีขั้นตอนอย่างไร ต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๕:๐๕ ยางขอบ 17 ยี่ห้อไหนดีที่ขับขี่สนุก และยังคงนุ่มสบาย
๑๔:๕๖ heygoody คว้าแชมป์จากเวที Thailand Influencer Awards 2024 ตอกย้ำความเข้าใจลูกค้า Introvert
๑๔:๐๓ เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 4 รางวัลใหญ่ระดับสากล ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล และเป็นองค์กรสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการ