นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผู้ผลิต และจำหน่ายสายไฟฟ้าสำหรับระบบการส่ง และจ่ายกระแสไฟฟ้า สายไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งเป็นรายเดียวในประเทศไทยที่ให้บริการทดสอบระบบสายไฟฟ้าแรงดันสูงแบบเคลื่อนที่ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในปี 2564 บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้อยู่ที่ประมาณ 15-20% จากปีก่อน และคาดว่าจะสามารถทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ เนื่องจากรายได้หลักคือ ธุรกิจสายไฟฟ้า และสายเคเบิล มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีไปพร้อมกับอุตสาหกรรม ซึ่งจาก แผนการลงทุน 5 ปี (2563-2567) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมราว 2 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนพัฒนาระบบส่ง และจำหน่ายไฟฟ้า และแผนสนับสนุนการลงทุนโรงไฟฟ้าจากต่างชาติของรัฐบาลเวียดนาม เพื่อจะได้มีพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ขณะที่บริษัทฯ มีโรงงานทั้งในไทยและเวียดนาม ซึ่งทั้งสองประเทศที่มีการเติบโตและความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในอาเซียนตามการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับ บริษัทอดิสรสงขลา ซึ่งเป็นบริษัทย่อย จะสามารถสร้างการเติบโตของรายได้อยู่ที่ประมาณ 20% จากปีก่อนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีกลยุทธ์ในการมุ่งเน้นการขายสินค้าในกลุ่มที่มีความสามารถในการทำกำไรได้สูง (High Margin) โดยเฉพาะกลุ่มสายไฟแรงดันระดับกลางจนถึงระดับสูงพิเศษ (Medium - Extra High Voltage) ที่มีการเติบโตสูง เพื่อรองรับโครงการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน พร้อมกับการควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ (Lean management) และการบริหารจัดการร่วมกันของกลุ่มบริษัทอย่างมีระบบ (Integrated Supply Chain Management) อีกด้วย
ด้านนายประกรณ์ เมฆจำเริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กล่าวว่า รายได้หลักของบริษัทฯ ในปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของเวียดนาม ซึ่งจะมีการเพิ่มความเร็วในกำลังการผลิตจากเดิมใช้อยู่ระดับ 45-50% เท่านั้น รวมถึงรับรู้รายได้จากโครงการภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน การขยายโครงการรถไฟฟ้า การอัพเกรดขนาดสายไฟ เพื่อรองรับการเติบโตของชุมชน การพัฒนาระบบสายส่งไฟฟ้า เป็นต้น
"บริษัทฯ มีกำลังการผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิลรวม 2.2 แสนตันต่อปี โดยแบ่งเป็นไทยและเวียดนาม 50-50% ซึ่งไทยใช้กำลังการผลิตไป 60-70% ส่วนเวียดนามใช้กำลังการผลิต 45-50% เท่านั้น ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทฯ จึงจะเพิ่มความเร็วในการผลิตส่วนของโรงงานเวียดนาม หลังจากที่ได้บูรณาการ 2 โรงงานเข้าด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้โรงงานเวียดนามเกิดการประหยัดต่อขนาด และสร้างประสิทธิภาพสูงสุดให้บริษัทฯต่อไป" นายประกรณ์ กล่าว
ปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) มูลค่ารวมอยู่ที่ 9,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานของโครงการภาครัฐ และเอกชน ทั้งงานในประเทศไทย และเวียดนาม โดยคาดว่าจะสามารถทยอยรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการเตรียมเข้าร่วมประมูลงานใหม่อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนบุกตลาดสหรัฐฯ ผ่านทั้งบริษัทไทย และบริษัทในเวียดนาม เนื่องจากมองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต หลังจากจีนได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านกำแพงภาษี ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการเข้าไปขยายตลาดเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ที่มา: สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น