ดร.ทองเปลว เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงในสถานการณ์ค่าความเค็มรุกล้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้กำชับให้กรมชลประทานวางมาตรการเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา ด้วยการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระรามหก เพื่อควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ให้สอดคล้องกับระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน ขอความร่วมมือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า งดสูบน้ำเข้าพื้นที่เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระหว่างการลำเลียงน้ำลงมายังพื้นที่ตอนล่าง ส่วนโครงการชลประทานในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ให้จัดทำรายงานการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไปจนถึงสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการบริหารจัดการน้ำและควบคุมค่าความเค็มต่อไป ส่วนพื้นที่ด้านท้ายน้ำจะควบคุมการเปิด - ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ตามจังหวะการขึ้น - ลงของน้ำทะเลอย่างเคร่งครัด รวมไปถึงการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ในการระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเวลาน้ำลง พร้อมขอความร่วมมือจากการประปานครหลวง ปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงในการทำ water hammer operation เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และหากเกิดกรณีวิกฤติ จะผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ส่วนหนึ่งลงมาควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกทางหนึ่งด้วย โดยไม่กระทบต่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำแม่กลอง
"กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าไว้ โดยจะมีการส่งน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มที่จะหนุนสูงขึ้นอีก ซึ่งคาดว่าน้ำเค็มจะหนุนสูงขึ้นอีกในวันที่ 12 ก.พ. ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ จะร่วมกับการประปานครหลวง เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนให้มากที่สุด และขอให้ประชาชนมั่นใจว่าน้ำประปาจะไม่มีรสเค็มอย่างแน่นอน" ดร.ทองเปลว กล่าว
นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มเพิ่มสูงกว่าเกณฑ์ปกติ ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง ที่บริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 2 ก.พ. 64) เวลา 07.00 น. วัดค่าความเค็มได้ 0.31 กรัมต่อลิตร (เกณฑ์เฝ้าระวัง 0.25 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร) ทั้งนี้ เนื่องจากในปี 2564 ปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักมีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ต้องสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และไม้ผล-ไม้ยืนต้นเป็นหลัก ไม่เพียงพอที่จะนำไปผลักดันความเค็มได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมวางแผนบริหารจัดการน้ำโดยใช้อาคารชลประทานควบคุม การรับน้ำ เพื่อป้องกันความเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่การเกษตร ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์