รมช.แรงงาน ย้ำ! ทางเลือกใหม่ต้องมีทักษะฝีมือ

พุธ ๐๓ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๑ ๑๓:๑๘
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรก จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสถานประกอบกิจการและแรงงานอย่างต่อเนื่อง หลายกิจการทยอยปิดตัวหลังการแพร่ระบาดรอบใหม่ ล่าสุดที่มีการนำเสนอข่าวโรงงานแมรีกอท จิวเวลรี่ (ประเทศไทย) ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรปราการ ยุบไปรวมกับโรงงานในอยุธยา ทำให้พนักงานตกงานกว่า 2,600 พันคน ส่วนใหญ่เป็นสตรี และคาดว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยและสั่งการให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน

รมช.แรงงาน กล่าวต่อว่า แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ต้องเปลี่ยนสภาพจากแรงงานในระบบเป็นแรงงานนอกระบบ การพัฒนาทักษะฝีมือของตนเองให้มีความรู้ ความสามารถที่หลากหลายจึงเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นต้องมี เพื่อเพิ่มช่องทางการประกอบอาชีพใหม่ ทั้งการประกอบอาชีพอิสระ หรือก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ที่เป็นหน่วยงานหลักด้านการพัฒนาทักษะดังกล่าว มีหน่วยงานตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีการประกาศเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าอบรมเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 7 อุบลราชธานี (สพร.7อุบลราชธานี) เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าฝึกอบรมถึง 12 หลักสูตร อาทิ ผู้ประกอบอาหารไทย ช่างทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างเดินสายไฟฟ้าในอาคาร ช่างเชื่อม ช่างประกอบโครงอลูมิเนียม, สพร.19 เชียงใหม่ เปิดอบรม บาร์เทนเดอร์, สพร.13 กรุงเทพ เปิดอบรม การจัดการด้านอาหารและโภชนาการบนเรือ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายหลักสูตรที่เหมาะกับกลุ่มแรงงานสตรี เช่น เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ การผลิตสื่อโฆษณาและหนังสั้นด้วยสมาร์ทโฟน การสร้างอินโฟกราฟิกเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวและบริการการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อธุรกิจ และงานด้านศิลปประดิษฐ์ เป็นต้น สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dsd.go.th

ส่วนแรงงานที่ต้องการเข้าสู่ระบบการจ้างงาน โดยเฉพาะในเขต EEC สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) ซึ่งเป็นศูนย์ Training Excellent Center ของกพร. ประกาศเปิดอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานรองรับนวัตกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง (High Technology) อีก 14 หลักสูตร เช่น ช่างควบคุมหุ่นยนต์ การควบคุมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมสำหรับการจับชิ้นงาน การจำลองขบวนการผลิตและวางแผนการผลิตด้วยโปรแกรม TECNOMATIX และสาขาเครื่องจักรกลการผลิต เป็นต้น

รมช.แรงงาน กล่าวต่ออีกว่า อีกช่องทางในการหางานทำคือ สามารถดูตำแหน่งงานว่างได้ที่กรมการจัดหางาน หรือสมัครงานผ่านออนไลน์ที่ www.ไทยมีงานทำ.com เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลการจ้างงาน และหลักสูตรการฝึกอบรมต่างๆ สามารถเข้าไปเพื่อค้นหาข้อมูลตำแหน่งงานที่ต้องการ และจับคู่ตำแหน่งงานจากความรู้ ความสามารถ รวมไปถึงประสบการณ์การทำงานหรือทักษะที่มีอยู่

"แรงงานทุกคนต้องพัฒนาตนเองให้รอบรู้ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับตนเองในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะทำอาชีพอิสระหรือแบบมีนายจ้างก็ตาม ต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับอาชีพใหม่ในยุค New Normal เมื่อสถานการณ์นี้คลี่คลาย เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง และขอย้ำว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือและดูแลประชาชนอย่างเต็มที่" รมช.แรงงาน กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: กระทรวงแรงงาน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ