อิเคดะเรียกร้องให้ทั่วโลกยกระดับความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญในยุคสมัยของเรา ได้แก่ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการขจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปจากโลก โดยปัญหาเหล่านี้ไม่ได้แบ่งแยกด้วยพรมแดนประเทศ และไม่สามารถแก้ไขได้โดยรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงลำพัง
เขากล่าวว่า "ความพยายามร่วมกันของเราในการรับมือกับโรคระบาด ถือเป็นรากฐานในการทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของมนุษย์ในการพลิกวิกฤต"
สำหรับสถานการณ์โรคระบาดนั้น เขาได้ขานรับโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับทั่วโลก ขณะเดียวกัน เขาเสนอให้ยูเอ็นจัดการประชุมระดับสูงเพื่อรับมือกับโควิด-19 รวมถึงจัดการประชุมออนไลน์สำหรับเยาวชน "beyond COVID-19" เพื่อพูดคุยว่าคนรุ่นใหม่ต้องการเห็นโลกเป็นแบบไหนหลังวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไป
นอกจากนี้ อิเคดะกล่าวถึงความเสียหายอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากโรคระบาด โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนกว่า 1.6 พันล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดทั่วโลก พร้อมกับตอกย้ำความจำเป็นในการสนับสนุนโครงการคุ้มครองทางสังคมทั่วโลก เขาเรียกร้องให้ OECD รับบทผู้นำในเรื่องนี้ และในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยเสนอให้ลดงบประมาณด้านการทหารและนำไปใช้จ่ายเพื่อขยายบริการทางสังคมและสาธารณสุข
อิเคดะสนับสนุนการขจัดอาวุธนิวเคลียร์มาตลอดหลายทศวรรษ และขานรับการบังคับใช้สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) ของยูเอ็นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2021 ซึ่งถือเป็น "เหตุการณ์สำคัญในการก้าวสู่ศักราชใหม่" ที่จะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านความมั่นคงปลอดภัย นอกจากนี้ เขาได้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมการประชุมครั้งแรกของชาติที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อเริ่มสร้างเงื่อนไขอันจะนำไปสู่การให้สัตยาบันของญี่ปุ่นในอนาคต
ขณะเดียวกัน เขาเสนอให้จัดการประชุมเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาวุธนิวเคลียร์กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของยูเอ็น ในระหว่างการประชุมครั้งแรกของชาติที่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์
ในระหว่างการประชุมทบทวนสนธิสัญญาห้ามแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2021 อิเคดะเรียกร้องให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับความหมายที่แท้จริงของความมั่นคงปลอดภัยท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาเร่งด่วนด้านสภาพภูมิอากาศและโรคระบาด
นอกจากนี้ เขาเรียกร้องให้เอกสารสรุปการประชุมดังกล่าวระบุถึงคำมั่นสัญญาที่ว่าจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์และหยุดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดไปจนถึงปี 2025
อ่านแถลงการณ์ของมิโนรุ ฮาราดะ ประธานสมาคมสร้างคุณค่า เกี่ยวกับการบังคับใช้สนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์เมื่อวันที่ 22 มกราคม ได้ที่ https://www.sokaglobal.org/contact-us/media-room/statements/tpnw-entry-into-force.html นอกจากนี้ สมาคมสร้างคุณค่าสากลได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างนานาศาสนาร่วมกับกลุ่มความเชื่อทางศาสนากว่า 170 กลุ่ม โดยสามารถดูได้ที่ https://sgi-ouna.org/tpnw-eif-interfaith-statement
สมาคมสร้างคุณค่า (Soka Gakkai) คือเครือข่ายชุมชนชาวพุทธระดับโลกที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษา ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของชีวิต ส่วนสมาคมสร้างคุณค่าสากล (Soka Gakkai International: SGI) เป็นสมาคมระดับสากลและองค์กรนอกภาครัฐที่มีสถานะเป็นที่ปรึกษาของ UN ECOSOC ทั้งนี้ ไดซาขุ อิเคดะ ประธานสมาคมสร้างคุณค่าสากล ได้เผยแพร่ข้อเสนอเพื่อสันติภาพในวันที่ 26 มกราคมของทุกปีมาตั้งแต่ปี 1983 เนื่องในวาระครบรอบการก่อตั้งสมาคมสร้างคุณค่าสากล
ติดต่อ:
ยูกิ คาวานากะ
ฝ่ายข้อมูลสาธารณะระหว่างประเทศ
สมาคมสร้างคุณค่า
โทร: +81-80-5957-4919
อีเมล: kawanaka[at]soka.jp
เว็บไซต์: https://www.sokaglobal.org/contact-us/media-room.html
ที่มา: สมาคมสร้างคุณค่า
AsiaNet 87748