พ.ต.ท.สมเกียรติ นนทแก้ว ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. กล่าวว่า หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ทั้งสำนักและสำนักงานเขตได้จัดทำแผนรองรับและติดตามเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ปัญหาน้ำเค็ม ถนนทรุดตัว เพลิงไหม้หญ้าและเพลิงไหม้อาคาร และโรคที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงฤดูร้อน รวมทั้งมีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าบริเวณพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อขอความร่วมมือประชาชนเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าในช่วงสถานการณ์ภัยแล้ง สำหรับการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งจะเป็นไปตามแนวทางและขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือฝ่ายจัดการสาธารณภัย หมายเลขโทรศัพท์ 0 2279 6852
นายเฉลิมพล โชตินุชิต ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคมได้เตรียมการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยกำชับสำนักงานเขตประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรได้รับทราบข้อมูลสถานการณ์น้ำ เพื่อวางแผน เพาะปลูกพืชและวางแผนการใช้น้ำอย่างเหมาะสม และขอความร่วมมืองดการทำนาปรังในช่วงฤดูแล้งปี 2564 โดยหันมาปลูกพืชทีใช้น้ำน้อย เช่น พืชผักหรือพืชไร่ที่มีอายุสั้น รวมถึงเตรียมความพร้อมป้องกันและลดความเสียหายด้านปศุสัตว์ งดการเพาะเลี้ยงปลาในกระชังในระหว่างนี้ถึงเดือนเมษายน นอกจากนั้น ในระหว่างที่เกษตรกรเว้นช่วงทำการเกษตร หากสนใจรับการฝึกอบรมอาชีพเสริม สำนักพัฒนาสังคมได้จัดฝึกอาชีพเสริมโดยโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม.และศูนย์ฝึกอาชีพ หรือหากเกษตรกรสนใจการทำการเกษตรอื่น ๆ ที่ใช้น้ำน้อย เพื่อเป็นอาชีพเสริม เช่น เพาะเห็ด เพาะถั่วงอก การแปรรูปผลิตผลการเกษตร การซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตร สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาสังคม กทม. ทั้งนี้ หากพืชผลการเกษตร สัตว์เลี้ยง หรือบ่อปลาได้รับความเสียหายสามารถแจ้งสำนักงานเขตและสำนักพัฒนาสังคม เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือได้ต่อไป
ที่มา: กทม.