วว.โชว์ผลงานวิจัยไทย ร่วมขับเคลื่อน BCG Model พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

อังคาร ๐๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๑ ๑๕:๓๑
พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมการนำเสนอนิทรรศการผลงาน BCG : พลังเศรษฐกิจใหม่ พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งจัดโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.  ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล  ปลัดกระทรวง อว. นายสำราญ  รอดเพชร  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.  ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ  วว. นายสายันต์  ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว.  รวมทั้งผู้ประกอบการที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำผลงาน วว. ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์  ได้แก่ ดร.จุฑามาศ  อรุณานนท์ชัย กรรมการบริหารสายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด นายยุทธนา เจริญวงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีแอลซีพี จำกัด   นายชูชีพ  อภิรักษ์ ผู้จัดการส่วนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมนำเสนอผลงาน ที่สนองนโยบายของรัฐบาล ขับเคลื่อน BCG Model ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม  มีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วน ผ่านการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันของพันธมิตรภาครัฐและเอกชน  นำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน ในวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ณ ทำเนียบรัฐบาล

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมช่วยกันขับเคลื่อน BCG Model ทำให้เกิดการพัฒนาวิจัยผลงานต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขยับสถานะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ที่สำคัญคือ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ กระจายรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรด้วยการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดคุณค่าแทนการเผาทิ้ง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งเป็นวิกฤตระดับโลกอีกด้วย

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรียังเสนอให้ดึงทรัพยากรทางชีวภาพที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ทั้ง 6 ภาคมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จาก BCG Model ให้มากที่สุด ทั้งนี้ ต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล ส่วนราชการและภาคเอกชนด้วย พร้อมเน้นย้ำว่าในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเดินหน้าปรับหลักเกณฑ์การลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริม "ไทยลงทุนไทย" พร้อมทั้งปรับแก้กฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงโอกาสมากยิ่งขึ้น หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงไทยจะเป็นประเทศที่ "ล้มแล้วลุกไว" พร้อมนี้นายกรัฐมนตรียังกล่าวเชิญชวนให้ทุกคนช่วยกันใช้ผลิตภัณฑ์จาก BCG Model อาทิ น้ำตาลพาลาทีนสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรในรูปแบบยาสีฟันและแชมพูสระผม และพร้อมยินดีร่วมประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยและพัฒนาด้วยการนำผลิตภัณฑ์มาใช้เองด้วย

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเทศด้วย BCG โมเดลเศรษฐกิจใหม่ หรือ Bio-Circular-Green Economy ที่มุ่งบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อสร้างคุณค่า (Value Creation) จากฐานความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. ดำเนินงานวิจัยพัฒนา สนองนโยบาย BCG Model เพื่อยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ กระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา วว. ประสบผลสำเร็จในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคเกษตร และชุมชน ดำเนินงานสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงาน โดยมีผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ดังนี้

  • การพัฒนากระบวนการผลิตด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อผลิตน้ำตาลไอโซมอลทูโลส นวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต "น้ำตาลพาลาทีน" ให้แก่ บริษัท น้ำตาลราชบุรี มีคุณสมบัติเด่น คือ ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low GI) ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการเผาผลาญของร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานและนักกีฬา ปัจจุบันผลิตภัณฑ์น้ำตาลพาลาทีนมีจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไปและโรงพยาบาล โดยมีกำลังการผลิต 60 ตันต่อปี มูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาทต่อปี และจะมีการขยายเพื่อการส่งออก
  • การพัฒนาสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาสีฟันตรีผลา ยาสีฟันสูตรเกลือและสมุนไพรใหม่ ที่แตกต่างด้วยการผสานคุณค่าสารสกัดสมุนไพรอายุรเวทตรีผลา (TPL Active Agent) ผ่านกระบวนการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) ลิขสิทธิ์เฉพาะของบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด เข้ากันกับเกลืออณูเล็กเข้มข้น (Hypertonic Salt) สารสกัดชะเอมเทศ (DPG) และ ฟลูออไรด์ (Fluoride) ซึ่งให้ประสิทธิภาพสูงในการดูแลสุขภาพเหงือก ช่องปาก ฟันแข็งแรง ผลิตภัณฑ์ยาสีฟัน ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าการตลาดอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาทต่อปี และต่อยอดในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเส้นผมจากสมุนไพรตรีผลา ซึ่งคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่าด้านเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท โดย วว. ทดสอบคุณภาพและประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดน่านเป็นผู้ผลิตสารสกัดสมุนไพรเหล่านี้ส่งให้บริษัทไลอ้อน นอกจากตรีผลาแล้วยังมีสมุนไพรอัตลักษณ์อื่นๆ เช่น ใบหมี่ และมะไฟจีน เป็นต้น
  • การพัฒนาไบโอเมทานอลจากวัสดุเหลือทิ้ง โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมไฟฟ้าถ่านหินมาเพิ่มมูลค่าร่วมกับก๊าซไฮโดรเจน ก๊าซมีเทน และกลีเซอรอลดิบ ในการผลิตไบโอเมทานอลระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดการสร้างโรงงานไบโอเมทานอลต้นแบบแห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบัน บริษัท BLCP power เป็นพันธมิตรภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัยระดับห้องปฏิบัติการของ วว. ไปขยายผลและต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดการนำเข้าเมทานอลจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศไทยขณะนี้ยังไม่มีการผลิตเมทานอลในประเทศ ดังนั้นจากการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของการตั้งโรงงานผลิตเมทานอลเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศไทย โดย วว. พบว่า ความต้องการไบโอเมทานอลของประเทศไทย ประมาณการในปี 2564 คิดเป็นปริมาณ 1,076 ล้านลิตรต่อปี ในกรณีมีโรงงานผลิตเมทานอล 60 โรง จะก่อให้เกิดการผลิตไบโอเมทานอลในประเทศ 1,095 ล้านลิตรต่อปี เป็นการทดแทนจากการนำเข้าเมทานอล 100 %
  • สารชีวภัณฑ์ (Bioproducts) วว. ส่งเสริมงานวิจัยสร้างเศรษฐกิจสีเขียว เริ่มด้วยการสร้างเกษตรกรรมสีเขียว โดยมี Bio bank ที่รวบรวมสายพันธุ์จุลินทรีย์มากกว่า 10,000 สายพันธุ์ สำหรับนำไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการประกอบการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัจจุบัน วว. ถ่ายทอด "สารชีวภัณฑ์" ในจังหวัดภาคกลางตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา สารชีวภัณฑ์ผลิตจากจุลินทรีย์สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช ที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้าง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ ได้แก่ BS (Bacillus subtilis) แบคทีเรียกลุ่ม Bacillus ป้องกันกำจัดโรคขอบใบแห้งในนาข้าว BT (Bacillus thuringiensis) เชื้อบีทีกำจัดหนอนหัวดำในมะพร้าว ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) เชื้อราใช้ควบคุมสาเหตุโรคพืช เช่น โรคใบไหม้ของข้าว โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียน โรคต้นไหม้ของหน่อไม้ฝรั่ง เมตาไรเซียม (Metarhizium anisopliae) และ บิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) เชื้อราใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช เช่น ด้วงมะพร้าว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลข้าว ทั้งนี้ทำให้ลดต้นทุนเกษตรกร 172.5 ล้านบาท และลดการนำเข้าสารเคมีเกษตร 241.5 ล้านบาท
  • การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากไม้ดอกไม้ประดับ ที่ วว.ดำเนินการอย่างครบวงจรในการพัฒนาและปรับปุรงพันธ์ คัดเลือกสายพันธุ์ ระบบการปลูกเลี้ยงตามหลักความพอดีไม่เหลือทิ้ง เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยด้วยต้นทุนที่เหมาะสม มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรปลอดภัย รวมถึงการเพิ่มมูลค่าเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมสุขภาพและความงาม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวในจังหวัด โดยมีพื้นที่นำร่องในจังหวัดเลย ที่สามารถรวมกลุ่มผู้ประกอบการจำนวน 124 กลุ่มเป็นคลัสเตอร์ สามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 90 ล้านบาทต่อปี ขณะนี้ วว. ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเลยดำเนินการจัดตั้ง "มาลัยวิทยสถาน" เพื่อทำหน้าที่เป็นวิทยสถานแห่งปัญญา พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรม ตลาดไม้ดอกไม้ประดับและผลิตภัณฑ์

"ผลงานวิจัยของ วว. จากความคิดสร้างสรรค์ของนักวิจัยไทยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยขับเคลื่อน BCG โมเดล...นโยบายของรัฐบาล ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรม มีการนำไปใช้จริงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยผ่านการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันของพันธมิตรภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน" ผู้ว่าการ วว. กล่าวในตอนท้าย

 

ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๘ สรุปผลสำรวจปี 2567 สถาบันวิจัยฮาคูโฮโดเผย THAIDOM EFFECT มาแรง ช่วยเสริมสร้างความสุข ในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว
๑๗:๑๔ รพ.กรุงเทพ ฉลองความสำเร็จกับรางวัล GREAT PLACE TO WORK พร้อมเปิดตัว DR.HEALTH AVATAR ตัวแทนความสุขยกระดับสุขภาพ
๑๗:๐๙ รับสิทธิประโยชน์สูงสุดด้วยส่วนลด 20% เมื่อจองตรงที่โรงแรม สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๑๗:๐๔ มหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2566
๑๗:๓๘ ธนาคารไทยพาณิชย์ คว้า 5 รางวัลสำคัญด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในปี 2567 ตอกย้ำความเป็นผู้นำองค์กรยั่งยืน
๑๗:๐๓ ดั๊บเบิ้ล เอ มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อผู้ป่วยยากไร้
๑๗:๔๓ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชนในถิ่นทุรกันดารภาคเหนือ - อีสาน อย่างยั่งยืนต่อเนื่อง
๑๖:๕๖ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สร้างปรากฏการณ์ Amazing Celebration 2025 A New Chapter of The Journey
๑๖:๑๓ ปักหมุด เตรียมเช็คอิน ร่วมส่งความสุขปีใหม่มอบให้เกษตรกร ปี 2568 กับกรมส่งเสริมการเกษตร
๑๖:๔๒ สคร.12 สงขลา ร่วมรณรงค์ ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ย้ำ ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม ลดอุบัติเหตุ ลดเจ็บ ลดตาย ช่วงเทศกาลปีใหม่