นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)มีนโยบายในการรักษาและหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรมด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความสำนึกรักและหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาส่งเสริมให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น โดยส่วนหนึ่งได้มีการส่งเสริม อนุรักษ์และสืบสานบทเพลงไทยสากลอมตะ(ไทยลูกกรุง)อันทรงคุณค่าทางภาษาไทยและกำลังจะสูญหายไปจากสังคมไทย เนื่องจากเพลงไทยสากลอมตะ(ไทยลูกกรุง)เป็นบทเพลงที่มีเนื้อหาคำร้องที่มีความงดงามของภาษาไทยและมีวิธีการขับร้องที่ถูกต้องและชัดเจนตามหลักภาษาไทย ดังนั้น วธ.โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม(สป.วธ.)ได้ร่วมกับโครงการอนุรักษ์และสืบสานบทเพลงไทยสากลอมตะ จัด"กิจกรรมส่งความสุขด้วยเพลงออนไลน์"ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 - 17.00 น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ อนุรักษ์และสืบสานเพลงไทยสากลอมตะ(ไทยลูกกรุง) รวมทั้งเป็นการสร้างความสุขและสร้างกำลังใจให้แก่คนไทยด้วยการจัดคอนเสิร์ตเพลงไทยลูกกรุงแบบฐานวิถีชีวิตใหม่(new normal)ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งไม่ว่าอยู่ในพื้นใดก็สามารถรับชมได้สอดคล้องกับมาตรการควบคุมและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19)
นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า กิจกรรมดังกล่าวมีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินเพลงไทยลูกกรุงในอดีตถึงปัจจุบัน ได้แก่ ธนิศร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ ธานินทร์ อินทรเทพ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส โฉมฉาย อรุณฉาน จิตติมา เจือใจ อุมาพร บัวพึ่ง ศุภาชัย ผ่องสวัสดิ์ อุไรวรรณ ทรงงาม วีระ บำรุงศรี เจินเจิน บุญสูงเนิน อุเทน พรหมมินทร์ นฤมล สมหวัง แอ็ค-โชคชัย หมู่มาก สปาย-ภาสกร รุ่งเรืองเดชาภัทร์และอลิส-ธนัชศลักษณ์ ฮัดสัน มาขับร้องบทเพลงไทยสากลอมตะ(ไทยลูกกรุง)ทั้งบทเพลงแห่งความรัก บทเพลงส่งความสุขตรุษจีนและบทเพลงคติธรรมมาฆบูชา ซึ่งเป็น 3 เทศกาลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยสามารถรับชมผ่านการไลฟ์สดของกระทรวงวัฒนธรรมได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiMCulture/ และรับชมย้อนหลังผ่านทางยูทูป Channel:สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นอกจากนี้ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทป่าสักวิลเลจ จำกัดในการบันทึกเทปการแสดงและรับชมย้อนหลังได้ที่สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมไอพีเอ็ม ซึ่งรับชมได้ในระบบจานดำ PSI ทั่วโลก
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมในการส่งเสริมการเผยแพร่และอนุรักษ์บทเพลงไทยสากลอมตะ(ลูกกรุง)ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางยิ่งขึ้นและเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และร่วมกันสืบสานรักษาให้คงอยู่กับชาติไทยต่อไป
ที่มา: สํานักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม