ดร.ณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานบริษัทร่วมทุนและพัฒนาธุรกิจ และหัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเว้นท์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า "จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน รวมทั้งสตาร์ทอัพในหลายๆ ธุรกิจ ทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตัวเร่งในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาดำเนินธุรกิจเร็วขึ้น เช่น ธุรกิจเดลิเวอรี่ ธุรกิจเทคโนโลยีสุขภาพ ธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เนื่องมาจากผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเป็นดิจิทัล และเทคโนโลยี 5G เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตผู้คนมากขึ้น เราจึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการเริ่มโครงการ Venture Builder การลงทุนผ่านกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล (Venture Capital Fund) ที่เกี่ยวข้องกับ 5G และ Emerging Technology ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต นอกจากนี้ ในส่วนของ Corporate Venture Capital ภายใต้โครงการอินเว้นท์ (InVent) ยังคงเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีคุณภาพสำหรับการลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนผ่าน JV/M&A เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย"
การเติบโตของมูลค่าพอร์ตการลงทุนภายใต้โครงการอินเว้นท์ (InVent) และการสร้างคุณค่าให้กับสตาร์ทอัพที่ลงทุน
ในปีที่ผ่านมา อินทัชได้ลงทุนในสตาร์ทอัพผ่านโครงการอินเว้นท์ (InVent) เพิ่ม 6 บริษัท โดยใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 252 ล้านบาท ประกอบด้วย สตาร์ทอัพด้านฟินเทค (FinTech) ได้แก่ บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ จำกัด (PeerPower) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มระดมทุนหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง, บริษัท ชมชอบกรุ๊ป จำกัด (ChomChob) สตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการแพลตฟอร์มรวมคะแนนบัตรเครดิตและแบรนด์พันธมิตรต่างๆ เพื่อแลกเป็นสินค้าและบริการ และบริษัท แอกซินัน พีทีอี ลิมิตเต็ด (Axinan) สตาร์ทอัพสิงคโปร์ที่ให้บริการเทคโนโลยีประกันภัยสมัยใหม่ สตาร์ทอัพด้านเอ็นเตอร์ไพรส์โซลูชัน (Enterprise Solution) ได้แก่ บริษัท ดาต้าฟาร์ม จำกัด (Datafarm) สตาร์ทอัพไทยที่ให้บริการทดลองเจาะระบบ (Penetration Testing) และบริการตรวจสอบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Audit) แก่ลูกค้าองค์กร, บริษัท สวิฟท์ ไดนามิคส์ จำกัด (Swift Dynamics) ให้บริการซอฟท์แวร์และคำปรึกษาด้านการก่อสร้างและซ่อมบำรุง โดยมีจุดเด่นที่นำเอาเทคโนโลยี IoT เข้ามาผสานเพื่อให้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อทั้งหมดอยู่บนระบบคลาวด์ สตาร์ทอัพด้านดิจิทัลมีเดีย (Digital Media) ได้แก่ บริษัท พาโรนีม (Paronym) สตาร์ทอัพญี่ปุ่นที่ให้บริการวิดีโอเทคโนโลยีโต้ตอบอัตโนมัติ (Interactive video)
โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้ลงทุนในบริษัท โคนิเคิล จำกัด (Conicle) ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับบุคลากรในองค์กรซึ่งเป็น สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการศึกษา (EdTech) อีกด้วย
ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมา อินทัชลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งหมด 26 ราย มีมูลค่าพอร์ตการลงทุนกว่า 1,300 ล้านบาท เติบโตขึ้น 26% จากปี 2019 ซึ่งมาจากการลงทุนใหม่ และการขายหุ้นที่ลงทุน (Exit) ในบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด และ บริษัท โซเชี่ยล เนชั่น ปัจจุบันอินทัชได้ทำการ Exit แล้วทั้งหมด 7 สตาร์ทอัพ ซึ่งได้รับผลตอบแทนทั้งหมดคิดเป็น IRR เฉลี่ย 29% โดยในปี 2564 อินทัชมีเป้าหมายลงทุนในสตาร์ทอัพที่เกี่ยวเนื่องกับ 5G เช่น เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) และ Emerging Technology อื่นๆ เป็นต้น
ดร.ณรงค์พนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "อินทัชให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าให้กับ InVent Portfolio ใน 3 ด้าน คือ
- Business Development & Strategic Value ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพในการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายให้เติบโตอย่างยั่งยืนจากการร่วมมือระหว่างบริษัทในเครืออินทัช และพันธมิตร ช่วยให้เข้าถึงตลาดใหม่ ช่องทางการขายใหม่ กลุ่มลูกค้าใหม่ หรือนวัตกรรมใหม่ๆ
- Nurturing พัฒนาศักยภาพของสตาร์ทอัพด้วยความรู้และผู้เชี่ยวชาญ และช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น กฎหมาย การเงิน บัญชี และการบริหารจัดการต่างๆ
- Knowledge Sharing จัดงานพบปะทางธุรกิจ และแลกเปลี่ยนความรู้จากหลากหลายมิติ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ
เสริมการลงทุนผ่าน Venture Builder และการลงทุนผ่านกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล (Venture Capital Fund)
ในปี 2564 อินทัชเสริมการลงทุนผ่าน Venture Builder และการลงทุนผ่านกองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล (Venture Capital Fund) เพื่อเสริมสร้างให้เกิดธุรกิจใหม่ และสนับสนุนการเติบโตของบริษัทในกลุ่ม
- Venture Builder ภายใต้โครงการ InVent Builder ช่วยสร้างและพัฒนาธุรกิจใหม่ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (Early Stage) ที่ใช้เทคโนโลยีและบริการที่เกี่ยวข้องกับ 5G จนขยายการเติบโตได้อย่างยั่งยืน อินทัชจึงเห็นโอกาสในการทำ Venture Builder Program เพื่อสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทยให้แข็งแรงมากขึ้น ให้สตาร์ทอัพเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ช่วยสร้างธุรกิจใหม่ๆ โดยในปีนี้ได้ทำ Venture Builder ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (HealthTech) เพราะเชื่อว่าเทคโนโลยี 5G จะช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการ ก่อให้เกิดนวัตกรรมทาง Healthcare ใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทีมที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ Venture Builder จะได้รับการสนับสนุนผ่านกระบวนการที่ช่วยให้ไอเดียธุรกิจเป็นจริงได้ โดยได้รับคำแนะนำจาก Mentor อย่างเข้มข้น พร้อมเงินทุนสนับสนุนรายเดือน การเข้าถึงตลาดและโอกาสในการพบพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ และมีโอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจร่วมกับอินทัชอีกด้วย สตาร์ทอัพที่สนใจสามารถสมัครได้ที่ www.inventvc.com/inventbuilder
- กองทุนเวนเจอร์แคปปิตอล (Venture Capital Fund) เพื่อขยายโอกาสการลงทุนที่ครอบคลุมในหลายภูมิภาค มุ่งหา deal flow ที่มีคุณภาพด้วยความเชี่ยวชาญจากผู้จัดตั้งกองทุนชั้นนำจากต่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความร่วมมือทางธุรกิจที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อนำมาสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ สอดคล้องกับเทคโนโลยี 5G และตอบโจทย์ทางธุรกิจ สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ให้กับบริษัทในกลุ่มอินทัช โดยปีนี้ลงทุนในกองทุนอิสราเอลเป็นกองทุนแรก
"ผมมองว่า การลงทุนของอินทัชจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน และสร้างการเติบโตให้กับระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ ได้มีโอกาสคิดค้น และพัฒนานวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยี 5G มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของบริษัทในกลุ่มอินทัช เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และตอบโจทย์การใช้งานของคนในยุคดิจิทัล ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน" ดร.ณรงค์พนธ์ กล่าวสรุป
ที่มา: อินทัช โฮลดิ้งส์