ทั้งนี้ SAPIO และ BID เป็นผู้นำนวัตกรรมในอุตสาหกรรม โดยเทคโนโลยีของ SAPIO สามารถนำข้อมูลของผู้ใช้งานจากหลายแหล่ง (สมาร์ตโฟน อีเมล โซเชียลมีเดีย) มาผนวกใช้กับแมชชีนเลิร์นนิ่งที่ซับซ้อน นำเสนอเป็น Fintech-as-a-Service และโซลูชั่นจากระบบ AI ที่พัฒนาเพื่อตอบโจทย์ผู้ให้บริการด้านการเงิน นายเอเดรียน แอปเปอร์ลีย์ กรรมการบริหาร ซาปิโอ เอเชีย กล่าวว่า "กลุ่มเป้าหมายหลักของ SAPIO คือ ธุรกิจการเงิน ค้าปลีก และอนาลิติกส์ โดยเราเน้นให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับธุรกิจประกัน การบริหารคุณค่าในธุรกิจค้าปลีก (retail value management/audience aggregation) และธุรกิจสินเชื่อ ความร่วมมือระหว่าง SAPIO และ BID ในครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้นำความเชี่ยวชาญที่มี มาผนวกใช้ให้เข้ากับตลาดภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านการตลาด การปฏิบัติการ สินเชื่อ และเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้องค์กรไทยมีแต้มต่อในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง"
BID เป็นบริษัทในเครือบมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ มีบทบาทในการพัฒนาโซลูชั่นต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นสำคัญ มุ่งรองรับธุรกิจการบิน ปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมอีกหลากหลาย ทั้งนี้ BID และ SAPIO มีความเชื่อพื้นฐานร่วมกันว่า บล็อกเชนจะสร้างคุณค่าที่แตกต่างและเป็นที่ต้องการของตลาด ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ กล่าวว่า "บาฟส์เชื่ออย่างยิ่งว่า เทคโนโลยีคือหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนกลไกต่างๆ ในอนาคต จะช่วยผลักดันให้เกิดโมเดลการทำงานที่มีประสิทธิภาพ คำนึงถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายและเอื้อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเล็งเห็นถึงวิสัยทัศน์ดังกล่าว BID จึงก่อตั้งขึ้นในปี 2559 ด้วยเงินลงทุน 70 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยแนวทางนี้"
ด้วยความตั้งใจจริงที่จะช่วยองค์กรธุรกิจให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล BAFS และ SAPIO ได้ร่วมกันพัฒนางานต่างๆ ให้เป็นอัตโนมัติและสร้างความแตกต่างให้เกิดแต้มต่อ ทั้งสองบริษัทจึงตัดสินใจร่วมก่อตั้งกิจการร่วมทุน ในช่วงที่ตลาดไทยและต่างประเทศมีความพร้อมเปิดรับเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีนี้จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตลาด ปรับให้กระบวนการทำงานต่างๆ ลื่นไหล ช่วยลดต้นทุน ทำให้กระแสเงินสดหมุนเวียนดีขึ้น เพิ่มอัตราการทำกำไร รวมทั้งยกระดับความถูกต้องสมบูรณ์และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ที่สำคัญคือการนำ DLT มาใช้ จะช่วยให้องค์กรปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจได้ทันการณ์ พร้อมรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงในช่วงฟื้นฟูหลังจากโควิด
SDLT จึงจะทำหน้าที่ออกแบบ สร้าง และบริหารโซลูชั่นไพรเวทบล็อกเชน โดยใช้เทคโนโลยี AI ทำงานร่วมด้วย เพื่อรองรับลูกค้าองค์กรและหน่วยงานภาครัฐ ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ให้กับระบบปฏิบัติการต่างๆ ขณะเดียวกันก็เอื้อให้การติดต่อธุรกรรมทั้งในและนอกองค์กรทำได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด โดยมีระบบอัจฉริยะช่วยตัดสินใจอยู่เบื้องหลัง นายแกรี่ พาวด์ กรรมการอำนวยการของ SDLT กล่าวว่า "เราคร่ำหวอดในวงการธุรกิจมายาวนาน มีแพลตฟอร์มบล็อกเชนที่ล้ำสมัย และมีระบบนิเวศที่ดีในการพัฒนาแอปพลิเคชั่น ทำให้ SDLT สามารถสร้างต้นแบบแอปพลิเคชั่น DLT ที่ตอบโจทย์องค์กรและพร้อมนำส่งได้ภายในเวลาเพียง 30 วัน ซึ่งเราได้พัฒนาโซลูชั่นสำหรับหลายๆ อุตสาหกรรมมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นด้านซัพพลายเชนและการจัดการโลจิสติกส์ การแพทย์และดูแลสุขภาพ (healthcare) งานบริการ (hospitality) ค้าปลีก และการประกันภัย ยิ่งในยุคดิจิทัล ปัจจัยสำคัญที่จะนำความสำเร็จมาให้แก่ธุรกิจ ไม่ใช่แค่ความได้เปรียบเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่รวมถึงสมรรถนะด้านความปลอดภัยและด้านปฏิบัติการด้วย เพราะทุกวันนี้ เราอยู่ในเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั่น-ไว้ใจ (economy of trust) เทคโนโลยีและความชำนาญของ SDLT จึงเข้ามาตอบโจทย์ได้ในจุดนี้"
จากการที่ธุรกิจ B2B และ B2C ปรับตัวสู่ตลาดดิจิทัลมากขึ้น ทำให้เห็นถึงประโยชน์ของบล็อกเชนและการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ได้ดียิ่งขึ้น ช่วยเสริมความแข็งแกร่งและก้าวขึ้นเป็นองค์กรแนวหน้าในด้าน Digital Transformation สำหรับธุรกิจไทยในปัจจุบัน องค์กรที่เลือกใช้บล็อกเชนและแพลตฟอร์มดิจิทัล จะมีความพร้อมมากกว่า และได้ประโยชน์จากการที่ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องแม้จะเกิดวิกฤตขึ้นมาในอนาคตก็ตาม
ที่มา: เอบีเอ็ม คอนเนค