ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย และอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. ได้กำหนดจัดสัมมนาในรูปแบบออนไลน์ขึ้น ระหว่างวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้แนวคิด มุ่งสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยเชิงป้องกัน สู่ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และความผาสุกที่ยั่งยืน ปี 2564 (Forward Culture of Prevention for Safety Thailand 2021) โดยยังคงรูปแบบจัดสัมมนาผ่านทาง Facebook Live (Facebook Fan page : สสปท-TOSH) เพื่อเปิดโอกาสให้สถานประกอบกิจการได้มีโอกาสเข้ารับฟังความรู้ นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพขององค์กรอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้เข้าสัมมนาจะได้รับความรู้ในหัวข้อที่หลากหลาย เช่น การสอบสวนอุบัติเหตุขั้นเทพ ความปลอดภัย ทำไมต้องมี และ New Normal New Me ปลุก Safety ให้ Action ผู้เข้าสัมมนาสามารถเลือกหัวข้อได้ตามความสนใจ ตอบโจทย์กับชีวิตวิถีใหม่ในการทำงานได้อย่างปลอดภัย ทั้งยังเป็นการเพิ่มพูนความรู้ กระตุ้นจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และยังสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน รวมถึงขยายผลเนื้อหาที่ได้จากการเข้าสัมมนาให้แก่ผู้ปฏิบัติงานหรือเพื่อนร่วมรับทราบต่อไป
รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการจัดสัมมนาหัวข้อ "Safety for Creation ป้องกันโควิด ฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคเหนือ" ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เข้าร่วมฟังบรรยายตลอด 2 วัน รวมจำนวนกว่า 1,100 คน สะท้อนให้เห็นว่า นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพิ่มมากขึ้น
สำหรับสถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องความปลอดภัยฯ และต้องการรับทราบข้อมูลการสัมมนาหรือกิจกรรมต่าง ๆ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.tosh.or.th หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2448 9111 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
"นโยบายด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นแนวทางในการป้องกันและควบคุมไม่ให้เกิดอันตรายเนื่องจากการทำงาน ซึ่งถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนายจ้าง ลูกจ้างที่จะต้องให้ความร่วมมือในการตรวจตรา และเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในการทำงานให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจและสุขภาพอนามัยตามมาตรฐานที่กำหนด" รมช. แรงงาน กล่าวในท้ายสุด
ที่มา: กระทรวงแรงงาน