สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยนายสไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฯ (กฟก.) เปิดเผยว่าตามที่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้มีการประชุม ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ(ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ว่าด้วยการโอนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ และการเช่าซื้อ หรือซื้อทรัพย์สินคืนไปจากกองทุน พ.ศ. 2563 หลังจากที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ลงนามเรียบร้อยแล้ว และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำระเบียบดังกล่าวประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564
สาระสำคัญของระเบียบนี้ ให้เกษตรกรทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินคืนไปจาก กฟก. โดยมีราคาเช่าซื้อตามจำนวนเงินที่ กฟก. ได้จ่ายเพื่อชำระหนี้แทนไป ซึ่งแต่เดิมจะมีการเรียกเก็บค่าบริการ (ดอกเบี้ย) ค่าปรับ แต่ระเบียบฉบับล่าสุดนี้ไม่มีการเรียกเก็บค่าบริการค่าปรับ และสัญญาเช่าซื้อที่ทำขึ้นก่อนระเบียบนี้บังคับใช้ก็จะได้รับการยกเว้นค่าบริการและค่าปรับด้วย ซึ่ง กฟก. ได้ชำระหนี้แทนเกษตรกรไปแล้ว 29,832 สัญญา ปิดบัญชีไปแล้วจำนวน 6,592 สัญญา มีสัญญาลูกหนี้คงเหลือจำนวน 23,240 สัญญา จำนวนเงินต้นคงเหลือ 2,698,214,794.67 บาท ดอกเบี้ยที่จะรับการยกเว้นจำนวน 862,695,598.68 บาท
นอกจากนี้ยังมีระเบียบที่ปรับปรุงใหม่และได้ลงในประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาทิ1.) การขึ้นทะเบียนหนี้และการเพิกถอนทะเบียนหนี้ พ.ศ. 2563 ประกาศฉบับนี้เปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรที่ต้องการเป็นสมาชิกได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนหนี้ได้ทุกวันทำการ 2.) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดการหนี้และการจำแนกแยกประเภทหนี้ของเกษตรกร พ.ศ. 2563 โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการจำแนกแยกประเภทหนี้ เงื่อนไขการจัดการหนี้กับสถาบันการเงินต่างๆ การวางเงินชำระหนี้ในชั้นศาลหรือการบังคับคดีในกรณีที่สถาบันเจ้าหนี้ไม่ยินยอมให้ กฟก.ชำระหนี้แทนรวมทั้งแนวทางปฏิบัติงานของสาขาจังหวัด 3.) หลักเกณฑ์การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์การขึ้นทะเบียนหนี้และการจัดการหนี้ของเกษตรกรพ.ศ. 2563 เมื่อเกษตรกรมาขอขึ้นทะเบียนหนี้ แต่หนี้ที่นำมาขึ้นทะเบียนวัตถุประสงค์ไม่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เกษตรกรสามารถใช้สิทธิในการอุทธรณ์ได้ 4.) การจัดการหนี้ของเกษตรกร กรณีหนี้ที่มีบุคคลค้ำประกัน พ.ศ. 2563 เกษตรกรสมาชิกที่เป็นหนี้บุคคลค้ำประกัน กฟก.สามารถชำระหนี้แทนได้แล้ว โดยระเบียบนี้ได้กำหนดเงื่อนไขการจัดการหนี้ กรณีหนี้ที่มีบุคคลค้ำประกัน 5.)หลักเกณฑ์การจัดการทรัพย์สินหลักประกันของเกษตรกรที่ได้มีการจำหน่ายจ่ายโอนเพื่อการชำระหนี้ พ.ศ. 2563 ระเบียบนี้รองรับเกษตรกรสมาชิกกลุ่มที่ทรัพย์ถูกขายทอดตลาด เป็นต้น ซึ่งระเบียบและประกาศต่าง ๆ ที่ปรับปรุงใหม่จะทำให้การดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรของ กฟก. เป็นไปด้วยความคล่องตัว หากพี่น้องเกษตรกรท่านใดมีปัญหาด้านหนี้สิน หรือต้องการพัฒนาต่อยอดอาชีพด้านการเกษตร สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดในการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนองค์กรและทะเบียนหนี้ได้ที่สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรสาขาจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในวัน เวลาราชการ นายสไกรกล่าว.
ที่มา: สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร