นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT เปิดเผยว่า มุกเมโล เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับไข่มุกชนิดอื่นๆ ก็คือเมื่อมีเศษทรายเล็กๆ หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในตัวของหอยและเกิดการระคายเคือง หอยสังข์ทะนานจะหลั่งสารประกอบคาร์บอเนตมาล้อมรอบสิ่งแปลกปลอมนั้นไว้ มีลักษณะเป็นชั้นผลึกที่เป็นเส้นๆ ค่อยๆ กลายเป็น มุกเมโล และปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตได้ด้วยการเพาะเลี้ยงด้วยฝีมือมนุษย์ ซึ่งหมายความว่า ไข่มุกชนิดนี้เกิดได้เองตามธรรมชาติเท่านั้น จึงทำให้ไข่มุกชนิดนี้ "หายาก" และเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักสะสม โดย "มุกเมโล" ที่มีราคาสูงนั้นจะต้องมีสีส้มสดใสที่มีริ้ว "เปลวไฟ" บนผิวที่ชัดเจน สำหรับสีของมุกเมโล มีตั้งแต่สีเหลืองอ่อน สีส้ม ไปจนถึงสีส้มเข้มจนน้ำตาล แต่สีที่ดีที่สุดและสีที่มีมูลค่ามากที่สุดคือ สีส้ม หนึ่งในคุณสมบัติที่น่าสนใจที่สุด คือริ้วลายคล้าย "เปลวไฟ" ที่ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ มุกเมโล มีลักษณะเหมือนกับริ้วของเปลวไฟเป็นคลื่นไปทั่วพื้นผิวของไข่มุก ซึ่งยิ่งถ้ามีเปลวไฟที่เข้มและชัดเจนมากเท่าไร มุกเมโล ก็จะมียิ่งมีค่าและมีราคาสูงมากขึ้น และด้วยความหายากของมุกชนิดนี้ จึงไม่มีมาตรฐานในการประเมินราคามุกเมโล การตั้งราคาขึ้นอยู่กับบุคคลผู้ครอบครองมุกเม็ดนั้นๆ ด้วยความหายากระดับแรร์ไอเทม ทำให้มุกเมโลเป็นที่ต้องการของนักสะสม ข้อควรระวังคือสีของมุกเมโลสามารถจางลงได้เมื่อโดนแสงแดดหรือแสง UV เป็นเวลานาน
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีข่าวการพบ มุกเมโล ในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นแหล่งสำคัญของมุกเมโล และ มีข่าวการพบมุกเมโลบ่อยครั้ง อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน หรือไม่มั่นใจ รวมทั้งมิจฉาชีพอาจนำของเลียนแบบซึ่งทำจากเปลือกหอยมาจำหน่าย ดังนั้น GIT ในฐานะหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของภาครัฐของประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีระดับมาตรฐานสากล แนะนำว่า หากไม่มั่นใจว่าเป็นไข่มุกแท้หรือไม่ ให้นำมาตรวจสอบผ่านห้องปฏิบัติการที่ได้รับความเชื่อถือเพื่อสร้างความมั่นใจผู้บริโภคว่าเป็นของแท้ - เลียนแบบ โดยเมื่อไม่กี่วันที่แล้ว ได้มีเจ้าของมุกเมโล ที่พบมุกโดยบังเอิญจากแถบจังหวัดชลบุรี ซึ่งมุกที่พบมี ขนาดใหญ่ ถึง 65 กะรัต ก็ได้นำมาตรวจสอบกับสถาบัน และพบว่าเป็นของแท้ และมีความสวยงามเป็นอัตลักษณ์ของมุกเมโลธรรมชาติ ซึ่ง GIT เราเปิดสถาบันเปิดให้บริการในวันจันทร์ - ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 8.30 - 16.30 น. หากท่านใดสนใจก็สามารถเข้ามาขอรับบริการตรวจสอบเพื่อความมั่นใจได้" นายสุเมธ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน)