ล่าสุด วันนี้ เอไอเอส โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz (25.2 - 26.4 GHz ) ได้ชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz เป็นเงินจำนวน 5,719,150,000.00 บาท (ห้าพันเจ็ดร้อยสิบเก้าล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เอไอเอสเป็นเพียงรายเดียวที่มีคลื่น 26 GHz ย่านความถี่สูง ในปริมาณแบนด์วิธมากที่สุดถึง 1200 MHz และพร้อมแล้วในการเปิดให้บริการทันที โดยคุณสมบัติของคลื่น 26 GHz ถือได้ว่าตอบโจทย์การดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง อาทิ
- เนื่องจากเป็นย่านความถี่สูงและมีปริมาณแบนด์วิธมากที่สุด มีความสามารถในการรองรับการใช้งานได้มหาศาล จึงทำให้ลงเครือข่ายได้อย่างเฉพาะเจาะจงในพื้นที่ของแต่ละโรงงาน อย่างไม่ต้องกังวลเรื่องการกวนกันของคลื่นสัญญาณ
- สามารถออกแบบเครือข่ายได้อย่างสอดรับกับลักษณะธุรกิจที่แตกต่างกันของแต่ละโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีความหน่วงที่ต่ำมาก สามารถตอบสนองการทำงานของอุปกรณ์ในสายพานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มีระดับความเร็วของการส่ง Data ไร้สายเสมือนวิ่งอยู่บนสายไฟเบอร์
- ติดตั้งสถานีฐานได้ง่ายดายและรวดเร็ว เพราะอุปกรณ์มีขนาดเล็ก
จึงเป็นที่มาของการเน้นย้ำถึงโอกาสของการนำคลื่น 26 GHz มาให้บริการทันที อย่างสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาพรวม ด้วยการขับเคลื่อนผ่านโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) นั่นเอง
ทั้งนี้ ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา เอไอเอส เดินหน้าผนึกผู้นำอุตสาหกรรมระดับประเทศ อย่างสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ในการร่วมทุนตั้งบริษัท สห แอดวานซ์ เน็ทเวอร์ค พัฒนาด้าน ICT Infrastructure และเทคโนโลยี 5G, อมตะ คอร์ปอเรชัน ร่วมพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City), สวนอุตสาหกรรมบางกะดี พัฒนาสวนอุตสาหกรรมอัจฉริยะ, สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ในการยกระดับภาคการผลิต และ ปตท. ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี 5G สร้างนวัตกรรม Unmanned ภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง โดยล่าสุด ได้ร่วมกับ เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) ผู้ผลิตกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของประเทศในพื้นที่ EEC นำเทคโนโลยี 5G มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตภายในโรงงาน โดยที่ผ่านมาได้ร่วมทดลองการใช้งานบนคลื่นความถี่ 26 GHz แล้วและประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง พร้อมเป็นต้นแบบของการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็น Digital Industrial ต่อไป
ทางด้าน ดร.สมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธาน EEC Industrial Forum กล่าวถึงการผลักดันเทคโนโลยี 5G ในพื้นที่ EEC ว่า "จุดมุ่งหวังหนึ่งของอีอีซี อินดัสเทรียล ฟอรั่ม เราต้องการพัฒนา Recourses ทั้งทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรด้านดิจิทัล โดยมีกลุ่มผู้นำจากภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาร่วมกันเชื่อมประสานพัฒนาความก้าวหน้าที่เป็นจริง สัมผัสจับต้องได้ ผมรู้สึกดีใจที่ในวันนี้ การพัฒนาเทคโนโลยี 5G เราไม่แพ้ชาติใดในโลก ไม่เพียงเท่านี้ ยังเป็นแกนหลักโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จำเป็นสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่เปรียบเสมือนเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเทคโนโลยี 5G จะถูกเชื่อมโยงเข้ามาในบทบาทของคลัสเตอร์อุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อการตอบสนองแบบ Real Time รองรับภาคการผลิต การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม เช่น ยานยนต์อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ระบบโรงงานอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (High Precision Automatic Industry) การให้บริการด้าน Smart Logistic, IoT และนวัตกรรมต่างๆ การบริหารจัดการคมนาคมต่างๆ ทั้งทางเรือ หรือสนามบิน เป็นต้น เพื่อผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและปรับฐานอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่ ผ่านการวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และชุมชนในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เขตพื้นที่ EEC มีศักยภาพสูงด้านการลงทุน ทั้งในไทยและนักลงทุนจากทั่วโลก"
นายสมชาย งามกิจเจริญลาภ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอ็นซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ ในฐานะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เรามุ่งมั่นในการปรับระบบการผลิตให้มีความยืดหยุ่นทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปี 2563 ที่ภาคอุตสาหกรรมไทยต่างได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยี จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเชื่อมต่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยเอไอเอส ถือเป็นพาร์ทเนอร์ชั้นนำของประเทศที่มีความพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ภาคการผลิตได้อย่างลงตัว โดยปัจจุบัน ได้มีการประยุกต์ใช้ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. 5G AGV เป็นการใช้ 5G ควบคุม และสั่งการรถ AGV (Automated Guided Vehicles) ที่ใช้สำหรับการขนส่งชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตภายในโรงงาน และระหว่างโรงงาน เพื่อให้การขนส่งชิ้นส่วนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตให้โรงงาน 2. 5G Smart Robot เป็นการใช้ 5G ควบคุม สั่งการ ในส่วนของ แขนกลหุ่นยนต์ (Robot) ที่ใช้งานในส่วนสายการผลิตที่เกี่ยวข้องเช่น Press, Brazing, CNC, Heat& Cool และ Assembly line เป็นต้น โดยเทคโนโลยี 5G จะนำมาช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากคน (Human error) และช่วยสร้างความปลอดภัย, ลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนได้ 3. 5G Active Dashboard การประยุกต์ใช้งาน 5G ในการเชื่อมต่อระหว่าง Server และ Machine เพื่อให้สามารถ Monitoring สายการผลิตต่างๆ นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้โรงงานเป็น Smart factory อย่างแท้จริง"
จากการชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz พร้อมรับใบอนุญาตในวันนี้ ส่งผลให้ เอไอเอส ถือครองคลื่นความถี่ 5G ครบทั้ง 3 ย่าน ได้แก่ คลื่น 700 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz หากรวมเฉพาะคลื่นความถี่ที่จะนำมาให้บริการ 5G ทั้งหมดอยู่ที่ 1330* MHz และเมื่อรวมกับคลื่นความถี่เดิมที่มีจำนวนมากที่สุดอยู่แล้ว ส่งผลให้เอไอเอสยังคงยืนหยัด ในฐานะผู้นำอันดับ 1 ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการ 3G,4G และ 5G มากที่สุดในอุตสาหกรรม รวม 1420 MHz (ไม่รวมคลื่นที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ) ที่จะสามารถนำไปพัฒนาเพื่อสร้างประโยชน์แก่คนไทยและภาคอุตสาหกรรมในระยะยาวต่อไป โดยล่าสุด เอไอเอส ได้รับการการันตีคุณภาพเครือข่าย ในฐานะเครือข่ายมือถือ 5G และ 4G ที่เร็วที่สุดในไทย จาก Ookla(R) Speedtest(R) ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับโลกอีกด้วย
*สำหรับคลื่น 700 MHz จำนวน 10 MHz จะมีกำหนดรับมอบภายในเดือนเมษายน 2564 หรือตามที่กสทช. กำหนด
ที่มา: เอไอเอส