วิทยากรในการประชุมจากสมาคมแพทย์วิชาชีพต่างๆ ได้แก่ พ.อ.ผศ. นพ. ไนยรัฐ ประสงค์สุข กรรมการมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย น.อ.พญ. วรวรรณ ชัยลิมปมนตรี เลขาธิการเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ศ.พญ.ดวงฤดี วัฒนศิริชัยกุล หัวหน้าสาขาเวชพันธุศาสตร์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของแพทย์และสมาคมวิชาชีพในการสนับสนุนกิจกรรมกลุ่มผู้ป่วย ช่วยให้การรวมกลุ่มผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่น การเป็นพันธมิตรเกื้อหนุนกันและกัน การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบทบาทของผู้สนับสนุนทุนวิจัยและรณรงค์สิทธิ์การรักษา โดยวิทยากรจากกลุ่มผู้ป่วยต้นแบบ ได้แก่ นางศุภลักษณ์ จตุเทวประสิทธิ์ กรรมการเครือข่ายเบาหวานประเทศไทย นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย พล.อ.อ.กิจจา ชนะรัตน์ ประธานชมรมเครือข่ายโรคหัวใจ สถาบันโรคทรวงอก นายสมบัติ เปี่ยมหทัยสุข กรรมการมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง และนางปรียา สิงห์นฤหล้า ประธานมูลนิธิเพื่อผู้ป่วยโรคหายาก ได้เล่าประสบการณ์การจัดตั้งชมรมให้สำเร็จและการดำเนินกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดเสวนากลุ่มย่อยจากตัวแทนชมรมและกลุ่มผู้ป่วยที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน ที่ได้มาร่วมแชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลอันเป็นประโยชน์สำหรับการริเริ่มและต่อยอดเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า "ความตั้งใจของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อช่วยผลักดันและกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ป่วยในโรคต่างๆ และพัฒนาต่อยอดเป็นกลุ่มผู้ป่วยต่อไป โดยเราในฐานะแพทย์เองก็จะให้การสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาในองค์ความรู้ที่สามารถช่วยเหลือได้ เพื่อที่ผู้ป่วยจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากสมาคมฯ ไปแบ่งปันกันเพื่อดูแลตนเองหรือผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลอย่างถูกต้องต่อไป อีกทั้งสำหรับสถานพยาบาลเองก็ควรมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถร่วมแบ่งปันข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในการรักษาได้อย่างทั่วถึง"
ปัจจุบัน ผู้ป่วยและคนทั่วไปนิยมค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคและวิธีดูแลรักษาด้วยตนเองเบื้องต้นผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งอาจได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือนจากความเป็นจริง ดังนั้น การมีแหล่งข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ อีกทั้งการจัดตั้งกลุ่มผู้ป่วยสามารถช่วยแบ่งเบาการรักษาจากทีมแพทย์ได้อย่างมาก เพราะสามารถให้ผู้ป่วยมีช่องทางในการปรึกษาพูดคุยในฐานะเพื่อนร่วมประสบการณ์ ในหลายๆ กรณีผู้ป่วยมีความสบายใจที่จะพูดคุยและถ่ายทอดเรื่องราวในการรักษากันเองได้ดีกว่าการพูดคุยกับแพทย์ผู้รักษาโดยตรง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่จะสนับสนุนการรักษาจากแพทย์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเอง
"กลุ่มวิชาชีพแพทย์หลายๆ สาขาที่มาร่วมงานในวันนี้ รวมทั้งสมาคมโรคเบาหวาน ได้เห็นความสำคัญของการจัดตั้งกลุ่มผู้ป่วยและได้ให้การสนับสนุนมานานแล้ว ในเรื่องการดูแลให้ความรู้ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ผู้ดูแล รวมไปถึงคนไข้ โดยแต่ละองค์กรได้มีส่วนผลักดันให้กลุ่มผู้ป่วยรวมตัวกันและก่อตั้งเป็นชมรมขึ้น แนวทางของการจัดตั้งกลุ่มผู้ป่วยแต่ละโรคมีความต่างกัน เพราะต่างโรค ต่างประสบการณ์ ต่างองค์ความรู้ แต่เราเชื่อว่าในความต่างนั้น ทำให้เป็นต้นแบบของการก่อตั้งกลุ่มผู้ป่วยที่มีความหลากหลาย และสามารถใช้เป็นโมเดลสำหรับผู้ที่ต้องการก่อตั้งกลุ่มผู้ป่วยให้เกิดการรวมตัวและการร่วมมือกันก้าวเดินไปอย่างเข้มแข็ง เราหวังว่าการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ป่วยเพื่อความยั่งยืนจะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความรู้มีความสามารถในการดูแลตนเองดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นโรคเรื้อรัง และทำให้ประเทศชาติจะมีปัญหาโรคเรื้อรังน้อยลง " ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง วรรณี กล่าวเสริม
สุขภาพร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคภัยเป็นสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันให้ความใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่เราได้ประสบกับโรคอุบัติใหม่ต่างๆ เช่น โรคโควิด-19 และยังรวมถึงโรคอื่นๆ ที่เรารู้จักกันดีอยู่แล้วที่สร้างผลกระทบทั้งด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิต การจัดการประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่ดีในการถ่ายทอดประสบการณ์และข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการก่อตั้งชมรมจากตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยต้นแบบหลากหลายโรค ก่อให้เกิดเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยที่มีความยั่งยืนในที่สุด
ที่มา: สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์