ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้กลุ่ม CKPower มีผลประกอบการกำไร มาจากการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าและการบริหารทางการเงิน อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในไตรมาส 4/2563 มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนขาย รวมที่ 1,530.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 11.4 และมีต้นทุนทางการเงิน รวมที่ 255.3 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 1.8 ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและต้นทุนขาย ทั้งปี 2563 อยู่ที่ 6,417.5 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 8.6 และต้นทุนทางการเงินรวมที่ 996.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.2 อีกทั้ง CKPower ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน XPCL ที่มีการดำเนินงานเต็มทุกไตรมาสเป็นปีแรก ขณะที่ โรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น (BIC) ไม่มีการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ บางเขนชัย (BKC) สามารถเปลี่ยนแผงโซลาร์แล้วเสร็จตามแผน มีผลทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของแผงได้ถึง 25% โดยทยอยผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้เต็มกำลังผลิตและเป็นไปตามเป้าอีกด้วย
สำหรับ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 (NN2) มีปริมาณการขายไฟฟ้าในปี 2563 ที่ 920 ล้านหน่วย ลดลงจากปี 2562 ร้อยละ 45.4% เนื่องจากในช่วงต้นปี 2563 มีปริมาณน้ำคงเหลือในอ่างเก็บน้ำของ NN2 อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในปี 2563 มีปริมาณน้อยกว่าปี 2562 ร้อยละ 6.6 ทำให้ NN2 ต้องประกาศความพร้อมจ่ายไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อบริหารจัดการให้มีการสำรองปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ส่วน BIC ถึงแม้จะมีการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมแซม Gas Turbine ของ BIC-1 ก็ยังสามารถขายไฟฟ้าได้ 1,536 ล้านหน่วย ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2562 นอกจากนี้ทางไซยะบุรี ได้ดำเนินงานเต็มปี มีการขายไฟฟ้าในปี 2563 ได้ถึง 6,301 ล้านหน่วย
"ผลประกอบการของกลุ่ม CKPower ในปี 2563 ที่สามารถสร้างกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นนั้น เป็นเพราะบริษัทฯ มีการบริหารจัดการด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาเสถียรภาพเพื่อสร้างความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าส่งขายได้ตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการมีจุดแข็งที่กระจายการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหลากหลายประเภท ทำให้การดำเนินธุรกิจในภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นไปได้ด้วยดี และในปี 2564 บริษัทฯ ยังคงยึดแนวทางการบริหารงานดังกล่าว พร้อมทั้งพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพภาพมากขึ้นโดยการบริหารให้เกิด Economies of Scale ในการทำงานด้วย" นายธนวัฒน์ กล่าว
นายธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในปี 2564 นี้ CKPower มีการจัดสรรงบลงทุนไว้ประมาณ 2,000 - 4,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในโครงการพลังน้ำขนาดใหญ่และโครงการ Renewable โดยมีแหล่งที่มาของเงินทุนจากการออกหุ้นกู้ ทั้งนี้บริษัทฯ มีแผนที่จะออกหุ้นกู้อีกประมาณ 4,000-6,000 ล้านบาท รวมกับเงินคงเหลือจากการออกหุ้นกู้ในปลายปี 2563 ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอสำหรับรองรับการขยายธุรกิจและนำมาไถ่ถอนหุ้นกู้ชุดเดิมที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 4,000 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2564 ทั้งนี้ กลุ่ม CKPower คาดว่าในปีนี้จะมีรายได้โตประมาณ 10-15% ซึ่งจะเป็นรายได้จาก NN2 ที่มีการสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำในปลายปี 2563 เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า และคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำในปีนี้จะมากกว่าปีก่อน เช่นเดียวกับปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้าไซยะบุรีก็คาดการณ์ว่าจะมากกว่าปีก่อนเช่นกัน ส่วนโรงไฟฟ้าของ BIC-1 และ BIC-2 ยังคงผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่องตามปกติ ขณะที่โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์อีก 7 แห่ง จะสามารถจ่ายไฟได้เต็มปีใน 2564 นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจ Renewable Energy ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นโอกาสที่ได้ขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคตอีกด้วย
ข้อมูลเกี่ยวกับ CKPower: บริษัทฯ ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ 3 ประเภท จำนวน 13 แห่ง รวมขนาดกำลังการผลิตติดตั้งที่ 2,167 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท ไฟฟ้าน้ำงึม 2 จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 46% (ถือผ่าน บริษัท เซาท์อีสท์ เอเชีย เอนเนอร์จี จำกัด) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 615 เมกะวัตต์ และบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 37.5% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม จำนวน 2 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 65% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 238 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ 9 แห่ง ภายใต้ บริษัท บางเขนชัย จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 100% จำนวน 7 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 15 เมกะวัตต์ ภายใต้ บริษัท เชียงรายโซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 8 เมกะวัตต์ และภายใต้บริษัท นครราชสีมา โซล่าร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 30% จำนวน 1 แห่ง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6 เมกะวัตต์
ที่มา: โปร แมสคอม