นางมาริษา เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิเชฟแคร์ส เปิดเผยว่า โครงการสานฝันปั้นเชฟเป็นการต่อยอดเรื่องการทำอาหารให้กับเด็กๆที่มีความฝันอยากเป็นเชฟแต่ขาดโอกาสทางการศึกษา มูลนิธิเชฟแคร์สซึ่งดำเนินกิจกรรมทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร จึงต้องการสานฝันให้เด็กๆ ได้มีโอกาสที่ดี มีอาชีพที่มั่นคง
"เป็นความตั้งใจที่จะให้โอกาสกับเด็กด้อยโอกาสกลุ่มนี้ได้มีอาชีพที่ดี โดยโครงการจะให้ทั้งความรู้และการบ่มเพาะแนวคิดด้านบวกให้เขากลับตัวได้และมีงานทำ น้องๆทุกคนจะได้รับแรงบันดาลใจจากท็อปเชฟที่เขาได้ใกล้ชิด และจะเป็นคนคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้ในที่สุด" นางมาริษากล่าว
ทั้งนี้ มูลนิธิเชฟแคร์ส เป็นผู้ให้ทุนการศึกษา โดยมีสมาชิกเชฟแคร์ส อาทิ นายชุมพล แจ้งไพร (เชฟชุมพล) นายณัฏฐพล ภวไพบูลย์ (เชฟนิค) เชฟแอนดี้ ยัง (เชฟแอนดี้) ซึ่งล้วนเป็นเชฟระดับแนวหน้าของประเทศ หมุนเวียนกันเข้าร่วมเป็นอาจารย์พิเศษ สอนเทคนิคการปรุงอาหารและการดำเนินชีวิตเพื่อเป็น Role Model ให้เด็กๆ อันจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจและมีความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพเชฟได้ในอนาคต ตลอดจนรับเด็กเข้าฝึกงานจริงในร้านอาหารของเชฟแต่ละท่าน ขณะเดียวกันมูลนิธิฯยังได้รับเกียรติจาก ดร.พงษ์รพี บูรณสมภพ Co-Founder Robb Report Thailand นักจิตวิทยาการให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ เข้ามาเป็นจิตอาสาร่วมพัฒนาและสานฝันให้เยาวชนทุกคนได้บ่มเพาะทัศนคติเชิงบวกและความภาคภูมิใจในตนเอง พร้อมๆกับการพัฒนาศักยภาพของตน
ด้าน พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า กรมฯได้ทำการคัดเลือกเยาวชนที่มีความประพฤติดี ใกล้พ้นโทษ และรักการปรุงอาหาร จำนวน 6 คน จากศูนย์ฝึกและอบรมฯบ้านกรุณา, บ้านปรานี และบ้านอุเบกขา ให้เข้าร่วมโครงการสานฝันปั้นเชฟ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ดีมาก ในการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสามารถพัฒนาตนเองสู่การเป็นเชฟหรือผู้ประกอบการอาหารในอนาคตหลังจากได้รับการปล่อยตัว สิ่งนี้จะช่วยให้เขาไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ นับเป็นโครงการที่จะสามารถปั้นคนดีมีคุณภาพให้กลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
สอดคล้องกับ รศ.ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารเพื่อการพัฒนา (CCDKM) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่กล่าวในทิศทางเดียวกันว่า เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจาก CCDKM จำนวน 6 คน เป็นเด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ห่างไกลที่รักการทำอาหาร ทุกคนเขียนบรรยายถึงความฝันในการเป็นเชฟอย่างน่าประทับใจ และโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตที่เด็กทุกคนได้รับจาก มูลนิธิเชฟแคร์สในครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนพวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น มั่นคงขึ้น และมีอนาคตที่สวยงาม
ด้าน รศ.ดร.เปรมฤทัย แย้มบรรจง รองคณบดี คณะการจัดการธุรกิจอาหาร และรักษาการรองผู้อำนวยการ PIM FOOD ACADEMY กล่าวถึงหลักสูตรของ "โครงการสานฝันปั้นเชฟ" ว่า สถาบันออกแบบหลักสูตรเป็นพิเศษสำหรับน้องๆในโครงการ โดยมีระยะเวลาศึกษา 5 เดือน แบ่งเป็นการเรียนรู้ในภาคทฤษฎีกับปฏิบัติ เป็นเวลา 2 เดือน ณ สถาบันสอนอาหารและการจัดการธุรกิจอาหาร (PIM Food Academy) และอีก 3 เดือน จะเป็นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ณ ร้านอาหารของเชฟระดับแถวหน้าของเมืองไทย (Top Chef ) โดยที่เยาวชนทุกคนมีโอกาสได้รับการจ้างงาน ทั้งจากร้านอาหารของ Top Chef และ/หรือ ธุรกิจอาหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตลอดจนสามารถเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารของตนเองได้ในอนาคต
ทั้งนี้ PIM Food Academy เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดียวกันกับโครงการสานฝันปั้นเชฟของมูลนิธิเชฟแคร์ส ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนไทย
อนึ่ง เชฟแคร์ส เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อส่งมอบความห่วงใยแทนคำขอบคุณให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 ผ่านเมนูอาหารกลางวัน ที่รังสรรค์โดยเชฟยอดฝีมือระดับแถวหน้าของเมืองไทยหมุนเวียนกันเสิร์ฟเมนูรสชาติดีมีคุณค่าทางโภชนาการ และได้ต่อยอดสู่การจัดตั้ง "มูลนิธิเชฟแคร์ส์" ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการส่งเสริมศาสตร์แห่งอาหารไทยที่ปรุงด้วยความพิถีพิถัน ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลก และจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนที่รักการปรุงอาหารได้เรียนรู้และเติบโตเป็นเชฟระดับแนวหน้าเช่นเดียวกับเชฟแคร์ส์ต้นแบบ โดย เชฟแคร์ส ยังคงเดินหน้าตามเจตนารมณ์ที่จะต่อยอดการทำความดีเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ด้วยการเตรียมรังสรรค์เมนู "อาหารสุขภาพ" ในรูปแบบอาหารนานาชาติ โดยปรุงจากวัตถุดิบคุณภาพที่มีรสชาติอร่อยล้ำจากฝีมือสุดยอดเชฟชั้นนำของเมืองไทย สำหรับจัดจำหน่ายแก่ผู้รักสุขภาพ โดยนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายไปสร้างประโยชน์เพื่อสังคมต่อไปไม่สิ้นสุด
ที่มา: เจริญโภคภัณฑ์อาหาร