นาย สุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการ กลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่เขตมักกะสันเป็นจุดหนึ่งที่พบปัญหา PM 2.5 ค่อนข้างมาก จากสภาพการจราจรที่หนาแน่น และยังเป็นจุดที่มีประชาชนเข้ามาใช้บริการทั้งรถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ที่ เครือซีพี โดยบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ได้นำหอฟอกอากาศระดับเมือง Fahsai 2 มาติดตั้งในพื้นที่ ซึ่งหวังว่าหอฟอกอากาศนี้จะเปรียบเสมือนปอดเพื่อคอยฟอกอากาศให้แก่ประชาชน
"ต้องขอขอบคุณบริษัท รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ในความร่วมมือติดตั้งหอฟอกอากาศ "ฟ้าใส" ซึ่งผมเชื่อว่าจะสามารถทำหน้าที่เป็นเสมือนปอดที่คอยฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้กับชาวเมืองที่สัญจรไปมาและที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ได้เป็นอย่างดี"
ด้านนายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมทั้ง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่ได้ให้การสนับสนุนพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน สำหรับติดตั้งหอฟอกอากาศระดับเมือง Fahsai 2 ซึ่งเป็นนวัตกรรมของคนไทย และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC by MQDC) ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและพัฒนาหอฟอกอากาศดังกล่าว โดยเป็นรุ่นที่ 2 ทำงานด้วยเทคโนโลยีหอฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) มีขนาดความสูงจากฐาน 5.10 เมตร และฐานขนาด 2.40 เมตร ใช้พลังงานที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ร่วมกันกับระบบพลังงานไฟฟ้าทั่วไป
"บริษัทมีความตั้งใจมอบหอฟอกอากาศนี้ให้เป็นของขวัญสำหรับประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายด้านความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มุ่งเสริมคุณภาพชีวิต และสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่ประชาชนคนไทย โดยเฉพาะท่ามกลางปัญหาวิกฤติการณ์ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่ปกคลุมไปทั่วประเทศในขณะนี้ โดยเฉพาะที่กรุงเทพมหานคร และอย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การเผาไหม้ของน้ำมันเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมลภาวะ และฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ขึ้น ดังนั้นตรงถนนอโศก-ดินแดง ด้านหน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นี้ จึงเป็นจุดที่เหมาะสมในการติดตั้งหอฟอกอากาศได้ดี ประชาชนที่สัญจรไปมาจะได้ประโยชน์เนื่องจากเป็นถนนที่คนใช้สัญจรมาก"
ในขณะที่ นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า การนำหอฟอกอากาศ "ฟ้าใส" มาติดตั้งบริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มักกะสัน ถือเป็นการสร้างประโยชน์และแก้ปัญหามลภาวะให้แก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อประชาชนที่เข้ามาใช้รถไฟฟ้าฯ ที่มีมากกว่า 10,000 คนต่อวัน รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สัญจรไปมาในเขตอโศก-ดินแดง ซึ่งมีความแออัดและการจราจรติดขัดมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน
รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต กล่าวว่า ฟ้าใส 2 เป็นหอฟอกอากาศระดับเมืองที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ออกแบบภายใต้แนวคิดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางสุขภาวะและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้น ทำงานด้วยการนำพลังงานที่ได้จากแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ร่วมกันกับระบบพลังงานไฟฟ้าทั่วไป เพื่อลดภาระการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน โดยออกแบบให้แผงโซลาร์เซลล์ปรับเปลี่ยนได้ตามเวลา ซึ่งเวลากลางคืนแผงจะหุบลงอัตโนมัติพร้อมกับเปิดไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้พื้นที่โดยรอบ มีระบบฟอกอากาศอัตโนมัติแบบไฮบริด (Hybrid Air Purifier Tower) ซึ่งนอกจากช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์แล้วยังได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ โดยการเติมโอโซน (O3) และเพิ่มการฆ่าเชื้อของอากาศด้วยการผ่านรังสียูวีซี (UVC) ให้สามารถฆ่าเชื้อโรครวมทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และไวรัสได้ถึง 99%
"RISC by MQDC ตั้งใจพัฒนาหอฟอกอากาศระดับเมือง 'ฟ้าใส 2' หลังจากได้สร้าง 'ฟ้าใส 1' ในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่พบว่า Covid -19 เริ่มระบาด จึงคิดและวิจัยต่อทันที จนเกิดเป็น 'ฟ้าใส 2' ที่สามารถเพิ่มการจัดการกับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ ซึ่งเราตั้งใจพัฒนาขึ้นมาให้ทันต่อสถานการณ์ และได้ทำการทดลองและพัฒนาประสิทธิภาพจนได้เป็นที่น่าพอใจ โดยหวังว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนี้สำหรับหลาย ๆ พื้นที่ต่อไป"
ทั้งนี้การติดตั้งหอฟอกอากาศฟ้าใสนับเป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมของ เครือซีพีโดย บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่มุ่งเน้นดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนเครือเจริญโภคภัณฑ์ ด้วยการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health and Well-Being) ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being) ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนร่วมกัน
ที่มา: รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน