นายสเปญ จริงเข้าใจ กรรมการและผู้จัดการ บริษัท จี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ GCAP กล่าวถึง แผนการดำเนินธุรกิจในปี 2564 เป้าสินเชื่อใหม่คาดว่าใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาแต่บริษัทจะกลับมาเน้นโปรดักส์ที่ผลตอบแทนสูงเพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัท นอกจากนี้บริษัทฯ จะโฟกัสธุรกิจร่วมทุนกับกลุ่มนิ่มซี่เส็งฯ โดยจะดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อลูกค้ากลุ่มการขนส่ง (Logistic) เป็นหลัก คาดว่าจะสามารถเริ่มปล่อยสินเชื่อได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งนับเป็นการขยายธุรกิจและขยายฐานลูกค้าให้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านการขนส่งมีแนวโน้มเติบโตและได้รับผลบวกในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยจุดแข็งของจีแคปฯ คือความชำนาญในกลุ่มเกษตรกรรม อยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 17 ปี มีฐานลูกค้าที่รู้จักบริษัทฯ เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน นิ่มซี่เส็งฯ เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อมั่นในกลุ่มลูกค้า มีความชำนาญอย่างมากในธุรกิจขนส่ง การจับมือกันในครั้งนี้จึงถือว่าเป็นโอกาสที่จะสามารถขยายพอร์ตให้เติบโตแบบก้าวกระโดดได้
"ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทฯ ได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยจะเน้นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนสูงมากกว่าการขยายพอร์ตสินเชื่อ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ โดยในปีนี้วางเป้าปล่อยสินเชื่อใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาในระดับประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยสินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่มลูกค้าเกษตรกรยังเป็นลูกค้าหลัก โดยเฉพาะรถเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นกลุ่ม high yield และมีนโยบายควบคุมตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 2564 ไว้ไม่เกิน 5%" นายสเปญ กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้นักลงทุนเห็นภาพธุรกิจการปล่อยสินเชื่อของบริษัทฯ จึงต้องพิจารณาในงบการเงินเฉพาะกิจการ เนื่องจากในงบการเงินรวม มีการบันทึกส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมค้าที่ยังไม่ดำเนินธุรกิจใดๆ เข้ามาแสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสียในงบรวมเพิ่มเติม โดยผลประกอบการของบริษัทฯ ในงบการเงินเฉพาะกิจการงวดประจำปี 2563 (สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2563) บริษัทฯ มีรายได้รวมจำนวน 330.11 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 จำนวน 28.52 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.95 ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.13 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 19.82 ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 16.86 ล้านบาท ลดลงจากปี 2562 จำนวน 39.35 ล้านบาท หรือร้อยละ 70 เนื่องจากปล่อยสินเชื่อลดลงในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแพร่ระบาดของโควิด-19
สำหรับในไตรมาส 4/2563 ในงบการเงินเฉพาะกิจการมีรายได้รวม 76.28 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 18.84 เนื่องจากการลดลงของรายได้จากสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของสินเชื่อรวมลดลง รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ทำให้มีกำไรสุทธิจำนวน 7.42 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปี 2562 ร้อยละ 50.23
ขณะที่ในงบการเงินรวมที่แสดงเงินลงทุนตามวิธีส่วนได้เสีย ณ สิ้นปี 2563 มีกำไรสุทธิ 3.90 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ มีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในการร่วมค้า 12.18 ล้านบาท ในกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ และสำหรับไตรมาส 4/2563 จำนวน 1.56 ล้านบาท
"ช่วงที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทำให้ส่งผลกระทบต่อยอดการจัดเก็บค่างวดบางส่วน นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างการทำงาน ในส่วนของการบริหารจัดเก็บหนี้ และเปลี่ยนแปลงกระบวนการการทำงาน โดยบริษัทได้มีการทดลองและประเมินผล พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้พัฒนาเครื่องมือเพื่อใช้ในการบริหารจัดเก็บหนี้ โดยนำ AI และ DATA มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า จึงมั่นใจว่าปี 64 จะเป็นปีที่บริษัทฯ สามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรง และเติบโตขึ้นจากปี 63" นายสเปญ กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ให้ความไว้วางใจ ที่ประชุมกรรมการบริษัทฯ มีมติให้จ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.05 บาท รวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น 15 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 93.61 ของกำไรสุทธิหลังหักสำรองตามกฎหมายแล้วในงบการเงินเฉพาะกิจการ โดยกำหนดรายชื่อผู้ที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 15 มีนาคม 2564 และกำหนดจ่ายปันผลวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นี้
ที่มา: ไออาร์ พลัส