ทั้งนี้เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ในการถวายพระราชสมัญญา "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ท่านที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทย และทรงปรีชาสามารถด้านช่าง รวมทั้งทรงให้ความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงานของช่างไทยให้มีความเป็นมาตรฐาน และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ในการเสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานแนะแนวอาชีพและแข่งขันฝีมือช่างแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2513 ณ ลุมพินีสถาน จึงได้กำหนดให้ วันที่ ๒ มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ" การผลักดันให้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เป็นที่ยอมรับต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ประเทศมีศักยภาพและมีความพร้อมในการแข่งขันได้ในเวทีโลก ตลอดจนเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ทุกกลุ่มอาชีพนำไปสู่การจ้างงานที่เป็นธรรม ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกำลังแรงงาน จึงกำหนดให้มีมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคน และเป็นการกระตุ้นให้แรงงานพัฒนาตนเอง รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือวัดความรู้ ความสามารถ ทักษะฝีมือ และทัศนคติในการทำงานเพื่อเป็นการยกระดับกำลังแรงงานของประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบกิจการ
ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดงานขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" กระทรวงแรงงานมอบให้หน่วยงาน สังกัดกระทรวงแรงงานร่วมบูรณาการ โดยให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้ง 24 แห่ง และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน 52 แห่ง รวม 76 แห่ง ดำเนินการจัดงานวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2564 ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2564 โดยจัดพิธีราชสักการะพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็น "พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย" และจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถทางด้านช่างของพระองค์
ที่มา: สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานสมุทรสงคราม