วิศวะมหิดล - สยามไอโอที รวมพลังสู้ PM 2.5 ด้วยนวัตกรรมระบบแจ้งเตือนเรียลไทม์ ด้วยเทคโนโลยี IoT

พฤหัส ๐๔ มีนาคม ๒๐๒๑ ๐๙:๒๖
องค์การอนามัยโลกได้สำรวจพบว่า มีประชากรที่ต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลกกว่า 6 ล้านคนในแต่ละปี และในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึงร้อยละ 10 หลายปีที่ผ่านมาคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีปริมาณเกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการ "นวัตกรรมความปลอดภัยจากมลภาวะทางอากาศด้วยเทคโนโลยี IoT" มาจากนโยบายด้านวิศวกรรมสีเขียวของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และได้เล็งเห็นถึงผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนในประเทศไทย ทั้งก่อโรคภัยระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือดและสมอง ทำให้แก่เร็วขึ้นและอายุขัยเฉลี่ยลดลงด้วย หากสูด PM2.5 เป็นเวลานาน อาจส่งผลในระดับพันธุกรรม และทารกในครรภ์ได้ ความร่วมมือระหว่างคณะวิศวะมหิดล โดยงานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (ESR) กับ บริษัท สยามไอโอที จำกัด ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพผู้วิจัยพัฒนาและผลิต ระบบแจ้งเตือนมลภาวะอากาศด้วยเทคโนโลยี IoT โดยได้รับทุนวิจัยจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NiA) ดำเนินการแล้วเสร็จและได้นำร่องติดตั้งอุปกรณ์นวัตกรรมในพื้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 1 เครื่อง และที่เทศบาลกระทุ่มล้ม อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 1 เครื่อง นับเป็นความสำเร็จในการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในสถานศึกษาและชุมชนร่วมเฝ้าระวังมลภาวะทางอากาศ บริหารจัดการ และแก้ไขปัญหา สู่การปฏิบัติในพื้นที่จริง นอกจากนี้ข้อมูลคุณภาพอากาศที่ระบบจัดเก็บไว้ที่ Cloud Server ส่วนกลางนั้นเป็น Big Data ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ต่อยอดการศึกษาวิจัยเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อีกด้วย

ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม กล่าวว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เชิญผู้นำชุมชน ผู้ดูแลอาคาร และนักศึกษา มาร่วมงานถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมและข้อมูลจาก ระบบแจ้งเตือนมลภาวะทางอากาศด้วยเทคโนโลยี IoT โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท สยามไอโอที จำกัด นับเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ด้วยโซล่าเซลล์ โดยระบบจะส่งข้อมูลค่ามลภาวะตามความเป็นจริงอย่างรวดเร็วและเป็นค่าปัจจุบัน (Real Time) อย่างน้อยวันละ 3 ครั้ง (รอบเช้า รอบกลางวัน รอบเย็น) และเมื่อมีค่าแปรผันของระดับคุณภาพอากาศ เช่น จากอากาศระดับดี เปลี่ยนเป็นอากาศระดับแย่ จะมีการแจ้งเตือนผ่านไลน์ แอพพลิเคชั่น ช่วยให้ชุมชนและผู้อยู่อาศัยในอาคารสามารถเตรียมตัวป้องกันตนเองและผู้อื่นในชุมชน อาคาร หรือสถานศึกษาได้ทันเวลา เช่น สวมหน้ากาก การปิดประตูหน้าต่าง หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และที่สำคัญสามารถประสานงานเครือข่ายในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสมลพิษฝุ่นPM 2.5 และหาวิธีการร่วมกันลดปริมาณฝุ่นจากกิจกรรมของมนุษย์ในชุมชน

คุณเทวฤทธิ์ ธรรมกุลคุณากร กรรมการ บริษัท สยามไอโอที จำกัด กล่าวว่า ระบบแจ้งเตือนมลภาวะทางอากาศ PM2.5 ด้วยเทคโนโลยี IoT พัฒนาโดยสยามไอโอที มีคุณสมบัติเด่น คือ มีความอัจฉริยะก้าวล้ำด้วยระบบเซนเซอร์มาตรฐานยุโรป ทันทีที่ตรวจจับพบค่า PM2.5 เกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ สามารถส่งข้อมูลแจ้งเตือนมลพิษ PM 2.5 เฉพาะจุดถึงผู้อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นๆ ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำแบบ Realtime ผ่านทางไลน์ แอพพลิเคชั่น, เซนเซอร์ที่ใช้วัด PM2.5 เป็นแบบดิจิตอล มีระบบทำความสะอาดตัวเอง จึงทำให้ค่าที่อ่านได้ไม่ผิดเพี้ยน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน, สามารถเลือก Scan QR Code เพื่อรับการแจ้งเตือนข้อมูลจากเครื่องวัด PM2.5 ที่เราอาศัยอยู่ใกล้ที่สุดได้ เพื่อความถูกต้องและแม่นยำในการแจ้งเตือน , สามารถดูข้อมูลของเครื่องวัดในจุดต่าง ๆ ที่ต้องการผ่านทาง Website ที่อัพเดทข้อมูลแบบ Real time และสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้เท่าที่ต้องการ

นอกเหนือจากตรวจจับและแจ้งเตือน PM 2.5 แล้ว ยังสามารถดูข้อมูลคุณภาพอากาศอื่น ๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณคาร์บอนไดอ๊อกไซค์ เป็นต้น โดยใช้สัญญาณ 3G/4G ในการส่งข้อมูล ทำให้สามารถติดตั้งเครื่องเพื่อส่งสัญญาณได้ครอบคลุมทั่วประเทศและสามารถใช้พลังงานสำรองจากแบตเตอรี่ได้กรณีไฟฟ้าขัดข้อง ทำให้ข้อมูลที่ได้มีความเสถียรและต่อเนื่อง ด้านตัวเครื่องได้รับการออกแบบและผลิตภายในประเทศไทย ทำให้ต้นทุนราคาประหยัดกว่าหลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาแพงถึง 5- 7 ล้านบาท

ที่มา: เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ