นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า " ปิโตรเคมีมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ อีกมากมาย โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมานานกว่า 40 ปี และเป็นอุตสาหกรรมแรกของประเทศที่มีแผนแม่บทการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ปี 2523 อยู่ในการพัฒนาระยะที่ 4 ในช่วงปี 2561-2580
นอกจากนี้ ประเทศไทยได้กำหนดการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้แนวคิด Thailand 4.0 ผ่านโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างฐานการผลิตวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมใหม่ และประเทศไทยยังมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีและพลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้นและมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในรูปแบบเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติกหรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ดังนั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในระยะต่อไป จำเป็นที่จะต้องต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพิ่มเติมจากฐานที่มีในปัจจุบันเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต"
สนพ.จึงได้มอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ EEC และพื้นที่อื่นที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต หรือการจัดทำแผนพัฒนาปิโตรเคมีระยะที่ 4 เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและสร้างฐานทางเศรษฐกิจใหม่ให้ประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ
โดยที่ผ่านมา สนพ. และ PTIT ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้มาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่การนำเสนอแนวคิด ภาพรวมและแนวทางของการศึกษา จนได้มาซึ่งแนวคิดการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงปิโตรเลียมและปิโตรเคมีกับการเกษตร ไปจนถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการลงทุน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์เคมีเสริม และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ รวมไปถึงพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งใน EEC และพื้นที่ใหม่สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะยาว ซึ่งจะต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพมาดูแลการบริหารจัดการพื้นที่ควบคู่กันไปกับการเตรียมความพร้อมก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และกระจายรายได้ไปยังภาคอื่นนอกเหนือจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก รวมไปถึงข้อเสนอสำหรับการจัดทำนโยบาย มาตรการส่งเสริม กฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมในครั้งนี้ โดยการสัมมนาแต่ละครั้งที่ผ่านมาได้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และที่ปรึกษาสามารถนำไปใช้ประกอบการจัดทำผลการศึกษาเป็นอย่างดี
การจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของโครงการศึกษากรอบแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 4 ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกและพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศโดยใช้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง
ที่มา: คาริสม่า มีเดีย