ทั้งนี้ นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยถึงบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ วศ.ภายใต้กฎกระทรวงใหม่ ซึ่งกำหนดให้ วศ. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจการให้บริการทางวิทยาศาสตร์ หรือเป็นห้องปฏิบัติการกลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยมีอำนาจหน้าที่สำคัญๆ ในการพัฒนาคุณภาพห้องปฏิบัติการ โดยการส่งเสริมสนับสนุนและดำเนินการรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ด้านเคมี ด้านฟิสิกส์ และด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพตามมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรห้องปฏิบัติการ โดยการบริหารจัดการการศึกษาและฝึกอบรมทางวิชาการและเทคนิคปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ บทบาทในการพัฒนาหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นแหล่งกลางของข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชุมชนในสาขาที่สำคัญและตามความจำเป็น รวมทั้งการถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนเป็นสถานปฏิบัติกลางทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ โดยให้บริการวิเคราะห์ทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ด้านเคมี เคมีฟิสิกส์ ฟิสิกส์ ฟิสิกส์เชิงกล วิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิเคราะห์ทดสอบมลพิษในสิ่งแวดล้อมทางด้านเคมีเชิงฟิสิกส์ ฟิสิกส์ ฟิสิกส์เชิงกล และวิศวกรรม รวมทั้งสอบเทียบความถูกต้องเที่ยงตรงของเครื่องมือ และอุปกรณ์วัดแก่หน่วยงานทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนทั่วไป และปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนด
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก้าวต่อไปของ วศ. กำหนดไว้ในปี 2565 คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรจากระบบราชการไปเป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นการยกระดับบาทบาทภารกิจในการขับเคลื่อนภารกิจบริการทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นรูปธรรมและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับสากลเพื่อตอบสนองคุณภาพด้านบริการที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงเป็นก้าวแห่งความท้าทายที่สำคัญยิ่งที่ วศ. ต้องเร่งผลักดันผลงานตามความเชี่ยวชาญให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทบาทในการคาดการณ์ความต้องการบริการด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ (Anticipate need for Science services) ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก อว. เพื่อเฟ้นหาความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม การพาณิชย์ หน่วยวิจัยและนวัตกรรม เช่น Science park ตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งถ้าเราเตรียมความพร้อมตามแนวทางดังกล่าวจะทำให้ วศ. มีศักยภาพและความพร้อมรองรับการขับเคลื่อนการบริการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ที่มา: กรมวิทยาศาสตร์บริการ