โอกาสนี้คณะผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เยี่ยมชมการดำเนินงาน ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย วว. (ALEC) ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี
สำหรับขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ การทดสอบประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ในระดับคลินิก และการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านงานวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีของ วว. ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามทิศทางและการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยด้วยนวัตกรรม และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและลดต้นทุน รวมทั้งเติบโตได้โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นพื้นฐานสำคัญ โดยมีแนวทางการพัฒนา คือ เร่งส่งเสริมให้เกิดสังคมนวัตกรรม โดยเสริมสร้างนวัตกรรมภาคธุรกิจ พัฒนานวัตกรรมภาครัฐและภาคสังคม ตลอดจนผลักดันงานวิจัยเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายที่สำคัญของ วว. ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้กระทรวง อว. ดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมนวัตกรรม และขีดความสามารถในการแข่งขัน ไปใช้ในการสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเชิงบูรณาการ ตลอดจนมีการพัฒนาเครือข่ายในการการพัฒนางาน วทน. อย่างเป็นระบบ เพื่อการแก้ไขปัญหาของภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวนันท์ฐณิชา ศิริปรีดาวัชร์ ประธานบริหารบริษัทชาร์มมิ่งเวิลด์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า มีความเชื่อมั่นและได้ติดตามการดำเนินงานของ วว. มาอย่างต่อเนื่อง มีความสนใจในผลงานวิจัย การให้บริการที่มีคุณภาพของ วว. ทั้งนี้ในอนาคตจะมีหลายๆโครงการที่จะได้วางแผนหารือเพื่อทำงานร่วมกันอย่างแน่นอน เนื่องจากมีแนวทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับสารออกฤทธิ์ของสารสกัดสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ซึ่งในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับที่มาที่ไปของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่ง วว. มีความพร้อมและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย