แพทย์หญิงพจนา จิตตวัฒนรัตน์ เผยมุมมอง ว่า "โควิด-19 สร้างผลกระทบกับทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจทั่วโลก หลายธุรกิจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิด-19 และมีหลายแห่งจำเป็นต้องปิดตัวลงชั่วคราวตามมาตรการของรัฐ ซึ่งผลกระทบมีจำนวนมากในหลายภาคธุรกิจ ทั้งท่องเที่ยว บริการ รวมไปถึงธุรกิจสุขภาพ และถึงแม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะมีการทยอยปลดล็อคไปบ้างแล้ว แต่โรงพยาบาลในแผนกการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ก็จำเป็นต้องจำกัดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาหรือผู้คนต้องเลื่อนการรักษาออกไปก่อน ส่งผลให้สถานพยาบาล รวมถึงคนไข้ ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงกันมากยิ่งขึ้นไม่ต่างจากในหลาย ๆ ธุรกิจที่ต่างหันมาใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ในการทำการตลาดเกือบทั้งหมด ซึ่งถือได้ว่าได้เกิดโอกาสในวิกฤต ในส่วนของผู้ป่วยในช่วงโควิดที่ผ่านมามีการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งการหาข้อมูลเกี่ยวกับโรค และการรักษา ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Google, Website, Facebook นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าคนไทยให้ความสนใจในการดูแลสุขภาพ และสุขอนามัยกันมากขึ้น รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องการเลือกรับประทานอาหาร ทำให้เทรนด์อาหารสุขภาพเป็นที่นิยมมากขึ้นไปด้วย เช่น การเลือกบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง หรือบางคนก็เลือกรับประทานโปรตีนมากขึ้น แป้งกับน้ำตาลน้อยลง ในส่วนของสถานพยาบาล และแพทย์ผู้รักษา ก็ต้องเกิดการปรับตัว เช่น การสั่งจ่ายยาทางไปรษณีย์เพื่อหลีกเลี่ยงการมาโรงพยาบาลและลดเวลาที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด หรือสำหรับคนไข้ที่อยู่ต่างประเทศ และด้านเทคโนโลยีของการรักษาหรือ Health Technology ก็มีการนำมาพัฒนาและนำมาใช้กันมากขึ้น เช่น การให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การทำเทเลเมดิซีน (Tele-medicine) หรือการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบวิดีโอออนไลน์ สำหรับในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ โดยในหลาย ๆ โรงพยาบาลได้จัดทำขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลที่ใกล้กับผู้ป่วยอยู่อาศัย ทั้งการ Consult ในลักษณะของ Second Opinion เช่น การส่งฟิล์มหรือข้อมูลต่าง ๆ มาให้แพทย์วิเคราะห์ และการส่งผลกลับให้ผู้ป่วย เพื่อนำผลที่ได้ไปรับคำแนะนำเรื่องการรักษา และการติดตามการรักษาคนไข้ผ่านการรักษาทางไกลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นเหมือนโอกาสใหม่ในการนำเทคโนโลยี และแนวความรู้ ในการรักษามาปรับใช้เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตใหม่ หรือที่เรียกกันว่า นิวนอร์มอล (New Normal) นอกจากนี้การตั้งรับเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เราต้องออกไปดูแลคนไข้ให้มีสุขภาพที่ดี มีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และคุณภาพเท่าเดิม ถึงแม้ว่าจะเป็นการรักษาทางไกล โดยส่วนตัวแล้วในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่เห็น คือ บางทีการรักษาทางยาเพียงอย่างเดียวร่างกายโทรมลง อาจจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถรับยาได้ดีเท่าที่ควร การเสริมเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การปรับสารอาหาร หรือ Nutrition ให้เพียงพอ ก็อาจจะทำให้สุขภาพของผู้ป่วยแข็งแรงขึ้นและได้รับการรักษาที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่จะต้องแนะนำผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจคอนเซ็ปต์ในการดูแลรักษา ให้สามารถดูแลตนเองได้ แม้จะอยู่ห่างจากหมอ"
แพทย์หญิงพจนา กล่าวเสริมว่า "คนไทยหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น และกังวลเรื่องสุขภาพกันอย่างมาก ในขณะเดียวกันก็มีการศึกษาข้อมูลด้านสุขภาพต่าง ๆ ไปด้วย โดยเฉพาะโรคมะเร็ง อย่างตัวหมอเองทำ Social Media ด้วยตัวเอง จะเห็นคำถามที่มาจากผู้ป่วยในยุคโควิดแบบเจาะลึก แสดงให้เห็นถึงการศึกษาข้อมูลมาอย่างละเอียด อย่างเช่น การรักษามะเร็งด้วยยามุ่งเป้า หรือ Targeted therapy ผู้ป่วยจะรู้ข้อมูลค่อนข้างมาก เมื่อผู้ป่วยปรับตัว แพทย์เองก็ต้องปรับตัวควบคู่ไปกับการพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก อย่างเช่น หมอมองว่าจะให้การรักษาแบบเสริมฤทธิ์ หรือ Synergists คือ การจะให้คนไข้รับยาได้อย่างต่อเนื่อง ร่างกายของคนไข้ก็อาจจะอ่อนแอลง เราต้องดูแลวางแผนเรื่องการให้สารอาหารหรือวิตามิน เพื่อให้คนไข้มีร่างกายที่แข็งแรง เพื่อที่สามารถรับยาได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีนี้หมอได้คิดขึ้นมาเอง ซึ่งดูได้ง่าย ๆ อย่างเช่นการรักษามะเร็งจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เราจะรักษาแบบตัดอย่างเดียว ต่อมาก็เป็นการให้ยา และการฉายแสง จนพัฒนามาถึงปัจจุบัน คือ การรักษาเฉพาะบุคคล หรือ Personalized medicine ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีการให้ยาในกลุ่มมุ่งเป้า หรือ Targeted therapy ยากลุ่มภูมิต้านทานบำบัด ซึ่งในอนาคตก็จะมีการพัฒนาไปอีกว่าภูมิต้านทานบำบัดจะเป็นไปในรูปแบบไหนเพื่อให้เจาะจงกับตัวโรคและตัวบุคคลมากขึ้น ในขณะเดียวกันหมอมองว่าต้องทำควบคู่กันไประหว่างการทำให้คนไข้หายจากโรคและ คนไข้มีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น และร่างกายในส่วนอื่น ๆ แข็งแรงด้วยเสมอ และถึงแม้ว่ามะเร็งอาจจะหายแล้วแต่เรายังต้องติดตามอาการของคนไข้ไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้คนไข้เป็นโรคอื่น และโรคเก่าไม่กลับมาอีก หรือทำให้ฟังก์ชั่นของร่างกายอ่อนเยาว์มากกว่าเดิม ซึ่งปัจจุบันการเข้าถึงยาแบบมุ่งเป้ายังเป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากเป็นยาชนิดพิเศษที่ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่ทุกปัญหาก็ยังมีทางออกเมื่อตัวยาและวิวัฒนาการด้านการแพทย์พัฒนาก้าวไกลในปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพก็มีการพัฒนาก้าวตามกันไปด้วย มีการออกแพคเกจต่าง ๆ มาเพื่อให้ครอบคลุมการรักษาโรคร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ซึ่งหากมีการวางแผนทำประกันสุขภาพไว้ ก็จะสามารถเป็นตัวช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาที่ครบถ้วนได้มากขึ้น"
"เมื่อมะเร็งถือเป็นโรคที่น่ากลัว แต่หากได้รับการ "เข้าใจ" อย่างแท้จริง และพร้อมที่จะปรับตัว ระวังการใช้ชีวิตให้มากขึ้น ทำจิตใจให้แจ่มใส เพียงเท่านี้ก็จะมีชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และผ่านพ้นภาวะวิกฤตไปได้ ส่วนตัวของหมอคิดว่า การดูแลไม่ใช่แค่การให้ยาแล้วจบไป เราต้องมี Goal ที่จะทำให้คนไข้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ได้แนะนำไปเป็นไปตามที่วางแผนไว้"
ที่มา: มาย ทัช