นางสาวณัทสุดา พุกกะณะสุต ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า เป้าหมายของอินเวสทรี คือ ต้องการเป็น "โซลูชั่น" ที่ช่วยให้ SMEs ทำธุรกิจได้ต่ออย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกังวลถึงแหล่งเงินทุน ในเวลาเดียวกันเราก็เป็น "โซลูชั่น" ให้นักลงทุนในการเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ และอิสรภาพในด้านการลงทุน ด้วยระบบ Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมทุนจากคนหมู่มากที่เป็นได้ทั้งบุคคลและสถาบัน เพื่อสนับสนุนกิจกรรม โครงการ หรือธุรกิจต่าง ๆ โดยได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม
"เราทำหน้าที่เป็นตัวกลางระดมทุนผ่านช่องทางบนระบบอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า "Crowdfunding Portal" เชื่อมต่อระหว่างผู้ออมเงินและผู้ขอออกหุ้นกู้ฯ ภายใต้ระบบที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความยืดหยุ่นได้อย่างรวดเร็วและประหยัดมากขึ้น ขณะที่ผู้ออมเงินหรือนักลงทุนก็จะได้รับการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนแบบใหม่ที่เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่า ในภาวะที่สินทรัพย์การลงทุนอื่นไม่ตอบโจทย์ในเรื่องความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทนการลงทุน"
นับตั้งแต่ปี 2018 ที่บริษัทฯ เปิดตัวในไประเทศไทย ในฐานะผู้ให้บริการเงินทุนแก่ธุรกิจรายย่อยไปจนถึงระดับกลาง (SMEs) พบว่าปัญหาสำคัญของ SMEs ไทยในช่วงโควิด-19 คือ คู่ค้าหรือลูกค้ายืดเวลาการชำระเงินค่าสินค้าออก ทำให้ขาดสภาพคล่องระยะสั้น แต่ SMEs กลับเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้ไม่มีกระแสเงินสดมาหมุนในธุรกิจได้ทันเวลา หลายรายจึงต้องกู้เงินนอกระบบ
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของความเชื่อมั่น (Trust) ดังนั้น บริษัทฯ จึงลงทุนด้วยเงินของบริษัทฯ เองก่อน เพื่อทดสอบระบบ โมเดลให้คะแนนความน่าเชื่อถือด้านการชำระหนี้ (Credit Scoring Model) และเกณฑ์การคัดเลือก SMEs ที่จะขอกู้ ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ เราได้ผลตอบแทนเงินลงทุนเฉลี่ย 14% ต่อปี และยังไม่มีลูกหนี้รายใดเป็นหนี้เสีย โดยเราตั้งเป้าบริหารอัตราหนี้เสียให้อยู่ไม่เกิน 3% ทำให้วันนี้เราพร้อมที่จะเชื่อมต่อนักลงทุนกับ SMEs ไทยผ่าน Crowdfunding Platform ของ อินเวสทรี ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต" นางสาวณัทสุดา กล่าวย้ำ
นางสาวณัทสุดา กล่าวว่า "อินเวสทรีเป็นผู้ให้บริการ Investment-based Crowdfunding ในรูปแบบของการออกหุ้นกู้ ที่เป็นการระดมทุนรูปแบบเดียวที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่งการที่ผู้เล่นรายใดจะได้รับใบอนุญาตมานั้น ไม่ง่าย นอกจากนี้ เรายังมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ขอกู้ที่ชัดเจน คือ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำธุรกิจมาแล้ว 1-2 ปี มีคู่ค้าที่ดีหรือมีใบแจ้งหนี้ (Invoice Financing) มีธุรกรรมซื้อขายบนระบบออนไลน์ และมีโอกาสไปต่อถ้าได้รับเงินทุน และนักลงทุนยังมั่นใจได้ว่าเงินลงทุนจะถูกส่งถึง SMEs เพราะเงินของนักลงทุนจะไปเก็บที่ "ผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian)" ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. เช่นกัน"
นายวรกร สิริจินดา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อินเวสทรี ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "หุ้นกู้ฯ ของเราจัดเป็น unrated high yield bond อายุตั้งแต่ 1 เดือน - 2 ปี ที่ไม่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกัน แต่ช่วง โควิด-19 เราจำกัดให้อายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความเสี่ยงให้นักลงทุน หุ้นกู้ฯ นี้ออกโดย SMEs ที่เราได้คัดเลือกมาให้ในระดับหนึ่งแล้ว โดยทีมผู้เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของ SMEs และยังมีระบบ จัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ขอออกหุ้นกู้ (Credit Worthiness Rating) ซึ่งคำนวณจากหลายปัจจัยที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ เพื่อช่วยให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม สูงสุดอาจถึง 26% ต่อปี ซึ่งก็มาพร้อมความเสี่ยง เทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยตอนนี้ ที่ผลตอบแทนไม่สูงนักแต่ความผันผวนเฉลี่ยสูงถึง 30% และที่สำคัญ การลงทุนในหุ้นกู้ย่อมได้สิทธิดีกว่าลงทุนในหุ้น เพราะเป็นสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ของกิจการ มีสิทธิได้เงินคืนก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ แต่ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน และต้องกระจายการลงทุน"
นายวรกร แนะนำว่า การลงทุนภายในพอร์ตหุ้นกู้ฯ เอง นักลงทุนก็ควรเลือกลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย และถ้าจะให้เกิดประโยชน์สูงสุด นักลงทุนควรเลือกธุรกิจที่ตนมีความรู้ความเข้าใจ หรือมีความสนใจลงทุนในธุรกิจประเภทนั้น โดยอินเวสทรี มีเป้าหมายให้มีหุ้นกู้จากหลากหลายอุตสาหกรรมให้นักลงทุนเลือกลงทุน และใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 1,000 บาทต่อหุ้นกู้ ทำให้แม้แต่นักลงทุนรายย่อยก็สามารถกระจายการลงทุนได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ดี เกณฑ์ ก.ล.ต. ยังจำกัดให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อหุ้นกู้ฯ และลงทุนบนระบบ Crowdfunding ทั้งหมดไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูง นิติบุคคลหรือมีบุคคลที่ความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน (Accredited Investor) สามารถลงทุนได้ไม่จำกัดวงเงิน
นางสาวณัทสุดา กล่าวเพิ่มเติมว่า "สมัยก่อน ผู้ออมเงินยังไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะโดยธรรมชาติของกลไกตลาดทุน เงินทุนมักไหลไปที่ธุรกิจรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเงินฝาก หรือกองทุนรวม เงินออมเหล่านั้นก็มักจะไหลไปลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ แต่วันนี้ พัฒนาการทางเทคโนโลยีและเกณฑ์การกำกับดูแลทำให้เกิด "เครื่องมือ" ที่สร้างความเท่าเทียมในการให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน นวัตกรรมการ
ลงทุนอย่าง Investment Crowdfunding ช่วยให้การลงทุนมีความเป็นธรรม (Fairness) เพิ่มขึ้นและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในต่างประเทศ Crowdfunding นั้นเกิดมานานแล้ว เพราะในมุมผู้ขอระดมทุน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก วิธีนี้ช่วยให้เข้าถึงเงินทุนได้สะดวก ในมุมนักลงทุน วิธีนี้เป็นโอกาสกระจายการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย และทำให้ทุกคนมีโอกาสลงทุนอย่างเท่าเทียมกัน"
"SMEs เป็นเส้นเลือดฝอยของระบบเศรษฐกิจไทย แต่โอกาสเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs กลับมีสัดส่วนไม่ถึง 1% ของ GDP ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจมีถึง 85% ของ GDP จะเห็นว่ามันมี Credit Gap ที่ใหญ่มากในระบบการเงินไทย ซึ่งเป็นแบบนี้ในหลายประเทศเช่นกัน ทั้งนี้ เราอยากให้นักลงทุนลองคิดดูว่า ถ้าคุณมีเงินพร้อมลงทุน เข้าใจความเสี่ยงของ SME และอยากช่วย SME ที่เขามีความพร้อมให้ผลตอบแทนนักลทุงนที่เหมาะสม อินเวสทรีก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน" นางสาวณัทสุดา ฝากไว้ให้คิด
นักลงทุนและ SMEs ไทยสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนได้ที่ https://www.investree.co.th/
ข้อมูลเกี่ยวกับอินเวสทรี
อินเวสทรี (Investree) เป็น Fintech Startup ที่มีจุดเริ่มต้นในประเทศอินโดนีเซีย เปิดตัวเมื่อปี 2015 ก่อนจะขยายธุรกิจไปประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และในประเทศไทย อินเวสทรีเป็นผู้ให้บริการเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนกับผู้ต้องการเงินทุน โดยทำการวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือทางการเงินของผู้ขอกู้ และบริหารจัดการการกู้ยืมตั้งแต่การทำสัญญาไปจนถึงการชำระคืนเงินกู้ ล่าสุด บริษัท อินเวสทรี อินโดนีเซีย ประสบความสำเร็จจากการระดมทุนเพื่อการขยายธุรกิจขนาดใหญ่ ระดับซีรีส์ ซี (Series C) จำนวน 23.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 753 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่สนับสนุนเงินลงทุนแก่สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการเงินชั้นนำของญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ได้แก่ เอ็มยูไอพี (MUIP) ของ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชี่ยล กรุ๊ป (Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. - MUFG) และ บีอาร์ไอ เวนเจอร์ (BRI Ventur)
สำหรับ อินเวสทรี ประเทศไทย เปิดตัวในปี 2018 ล่าสุด เดือน ก.พ. 2021 บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาต Crowdfunding Platform จาก กลต. จึงพร้อมแล้วที่จะขยายไปสู่บริการระดมทุนในรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ของธุรกิจ SMEs ไทยและนักลงทุนไทยได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ บริษัทฯ บริหารงานโดยทีมงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเทคโนโลยีที่มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า 20 ปี ในสายงานธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนกิจ และธุรกิจการประเมินความเสี่ยงด้านการเงิน
ที่มา: มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น