ผศ.ดร.สมพิศ ขัตติยพิกุล คณบดี วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า วิทยาลัยนานาชาติ ถือกำเนิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ และการตระหนักถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมในการรองรับการเจริญเติบโตของภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ใน พ.ศ.2546 เป็นคณะวิชาลำดับที่ 14 ของ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบัน เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก รวม 6 หลักสูตรได้แก่
- บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการโรงแรม หลักสูตรนานาชาติ 2 ปริญญา แห่งแรกในประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันวาแตล ประเทศฝรั่งเศส โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จะได้ไปฝึกงานที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 5 เดือน
- ศิลปบัณฑิต สาขาการออกแบบสื่อสารดิจิตัล) หลักสูตรนานาชาติ 2 ปริญญา ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมซิตี้ ประเทศอังกฤษ นักศึกษามีโอกาสได้ไปเรียนคอร์สสั้นๆ ที่อังกฤษ เป็นเวลา 3 สัปดาห์
- บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาจัดการตราสินค้าหรูหรา หลักสูตรนานาชาติ สองปริญญา ร่วมกับ Paris School of Business ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหลักสูตรเดียวที่เปิดสอนในประเทศไทย โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 จะได้ไปศึกษาดูงานด้านแบรนด์หรูต่างๆ ที่ประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 7 เดือน
- มหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว ร่วมกับ สถาบันวาแตล ประเทศฝรั่งเศส
- มหาบัณฑิต สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ วิทยาลัยฯ ยังจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝึกอบรม คือ ภัตตาคาร"วาแตล" ซึ่งเป็นสถานปฏิบัติการให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงาน ฝึกทักษะ และมีโอกาสแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริง
"จากสถิติบัณฑิต วิทยาลัยนานาชาติ ที่จบการศึกษากว่าสิบปีที่ผ่านมา ทุกคนมีงานประจำ หรือเป็นเจ้าของกิจการทันทีที่จบการศึกษา และมีเปอร์เซ็นต์การตกงานเป็น 0%" ผศ.ดร.สมพิศ กล่าว
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ผศ.ดร.สมพิศ เปิดเผยว่า ได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต้องหยุดชะงักลง ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลง และรายได้ที่หดหายไปจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะธุรกิจการบิน และโรงแรม ถึงแม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แต่ก็มองเห็นโอกาสที่ซ่อนอยู่ในวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยกันกอบกู้สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยให้ฟื้นกลับมาโดยเร็ว และเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวของประเทศจะฟื้นตัวได้ในไม่ช้า
"วิทยาลัยนานาชาติ ขอร่วมฝ่าวิกฤติฝันร้ายโควิด-19 ช่วยพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กลับมาโต แม้โควิด-19 ยังไม่จากไป โดยใช้เวลาแห่งวิกฤตนี้ ผลิตและพัฒนาศักยภาพบัณฑิตให้พร้อม รองรับตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศที่จะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง รวมทั้งเสริมทักษะของบัณฑิต เพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย" ผศ.ดร.สมพิศ กล่าว
ที่มา: สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์