อีสปอร์ตการกุศลในงาน "104 ปี จุฬาฯ อยู่ไหนก็คืนเหย้าได้"
จากเวทีร่วมพูดคุยในหัวข้อ "ESPORT : A New Emerging Lifestyle in Thai Society" ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ประธานกรรมการจัดกิจกรรมอีสปอร์ต 2564 เผยว่า "คณะกรรมการดำเนินงานเล็งเห็นว่ากิจกรรมอีสปอร์ตเป็นกีฬายอดนิยมในยุคปัจจุบันรองรับไลฟ์สไตล์คนยุคดิจิทัล โดยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึงมากขึ้นของคนรุ่นใหม่ทำให้วงการเกมออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะยิ่งส่งผลดีหากนำกิจกรรมที่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่เช่นนี้มาใช้เป็นแพลตฟอร์มให้ชาวจุฬาฯ ทุกเจนเนอเรชั่นได้กระชับความสัมพันธ์กันตามวิถีใหม่ นอกจากความสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจแล้ว สนจ.ยังชวนเหล่าเกมเมอร์มาเป็นผู้ให้โดยร่วมกันบริจาคเงินตามกำลังสนับสนุนโครงการวัคซีนเพื่อคนไทย โดยมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ ที่กำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดจุฬาฯ-ใบยาใช้เองภายในประเทศอีกด้วย"
ทางด้าน คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า "ธุรกิจอุตสาหกรรมเกมและ Esports ในเมืองไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในปี 2020 ประมาณร้อยละ 30 มูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท เกมในปัจจุบันกลายเป็น Mainstream Entertainment รูปแบบหนึ่ง และในปัจจุบันไม่ใช่การเล่นแค่คนเดียวแล้วแต่เล่นด้วยกันเป็นทีมทำให้ เกิด Community ของกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนๆกัน และหากเทียบกับฟุตบอล การเล่นเกมก็ถือเป็นกีฬา เหมือนเราเตะบอลไม่เก่งแต่เราก็ชอบดูบอลมีทีมบอลในดวงใจ พี่ก็เหมือนกันพี่ก็เล่นเกมไม่เก่ง แต่พี่ก็มีทีมที่พี่เชียร์ เวลาเขาแข่ง RoV, Free Fire, FIFA Online จะมีคอมมูนิตี้ของทั้งผู้ชมและนักกีฬาเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทัวร์นาเมนต์ในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เด็กไทยนี่เก่งนะคะ เพราะชนะทัวร์นาเมนต์ระดับโลกมาหลายรายการแล้ว อีสปอร์ตจึงเป็น Content-based อย่างหนึ่งที่เข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นตัวเชื่อม Generation Gap ไม่ใช่เพียงแค่ Gen X, Gen Y, Gen Z แต่ยังไล่ขึ้นไปถึง Baby Boomer หรือ Silver Lining บางท่านก็มาเล่นเกม เพราะใช้เป็นตัวเชื่อมระหว่างเขาเข้ากับลูกหลาน ไม่ได้บอกว่าเขาต้องเล่นให้เก่ง แต่เล่นแค่ให้พอรู้ พอที่จะคุยกันได้ เกมจึงถือว่าเป็นสื่อกลางที่เชื่อมทุกวัยเข้าด้วยกันสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และได้เข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของทุกเพศทุกวัยในปัจจุบัน"
RoV-Chula Alumni Charity Tournament 2021
คุณกฤตย์ พัฒนเตชะ Senior Director, Head of Thailand - Garena เผยว่า "ต้องขอขอบคุณ สนจ. ที่ให้เกียรติเลือกเกม RoV มาเป็นส่วนหนึ่งในงานคืนเหย้า 104 ปี จุฬาฯ นะครับ ถือว่าเป็นแนวคิดที่ทันสมัยมาก ความร่วมมือส่วนของ Garena มีจุดหลักอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรก เราในฐานะที่เข้ามาในวงการเกมในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2012 มีภารกิจหลักของบริษัทที่จะผลักดันวงการเกมและ eSports ให้แพร่หลายมากขึ้น และจุดสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือคนในสังคมต้องปรับตัวและยอมรับ การเข้ามาสนับสนุนร่วมมือกับสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ถือเป็นการกระตุ้นการรับรู้ให้สังคมรู้จักวงการ eSports และจะช่วยผลักดันวงการ eSports ให้ก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่งได้ ส่วนที่สอง เกมถือเป็นสื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นสู่รุ่นได้เป็นอย่างดี เช่น ศิษย์เก่าที่เรียนจบไปแล้ว ไม่ได้พบหรือพูดคุยกันเพราะเข้าทำงานในองค์กรต่างๆ หรือย้ายที่อยู่ไกลกัน แต่เกมถือเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนเหล่านี้ได้กลับมาคุยกัน วางแผนกัน และร้อยสานสัมพันธ์เข้าด้วยกันซึ่งสอดคล้องตามธีมงานของจุฬาฯ ในปีนี้ด้วย ส่วนสุดท้ายคือการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสให้นักแข่งที่อาจยังเป็นมือสมัครเล่น ได้มีเวทีในการแสดงความสามารถ ไม่แน่เราอาจจะได้พบนักกีฬา eSports คนถัดไปที่จะสร้างชื่อเสียงให้กับวงการ eSports บ้านเราได้ อย่างเช่นในปี 2019 ซีเกมส์ที่ฟิลิปปินส์ นักกีฬา eSports ไทยคว้าเหรียญทองมาได้ซึ่งหนึ่งเหรียญทองที่ได้ก็มาจาก RoV ด้วยเช่นกัน"
ฮิวโก้ พงศ์ปณต เรืองอารีรัตน์ ผู้แทนนักกีฬาอีสปอร์ตจุฬาฯ นิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งอีสปอร์ตเอเชียนเกมส์ เผยว่า "คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจการเล่นเกมอย่างแพร่หลาย เป็นกิจกรรมสานสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ ได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนยกระดับขึ้นเป็นกีฬาระดับนานาชาติแล้วอย่างในเอเชียนเกมส์ครั้งสุดผมก็ไปแข่งขันในนามทีมชาติไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งนักกีฬาเองก็ต้องเก็บตัวฟิตซ้อมเช่นเดียวกับกีฬาอื่น ๆ เกมช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์วางแผนต่าง ๆ ได้ดี อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่ชื่นชอบการเล่นเกมต้องมีวินัยแบ่งเวลาเรียนเวลาเล่นให้เหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์อย่างมาก"
ปาร์ค ภาณุภัทร อโนมกิติ ศิลปินนักแสดง MVP, RoV All Star Battle นิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เผยว่า "เกมหรืออีสปอร์ตเป็นคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องวัย คนทุกวัยพูดคุยกันได้ถูกคอเวลาเราเล่นเกม และได้รู้จักกันและแลกเปลี่ยนกันได้ ยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ทำให้เราต้องปรับพฤติกรรมการจัดกิจกรรมคืนเหย้าออนไลน์วิถีใหม่ของจุฬาฯ และมีกิจกรรมใหม่คืออีสปอร์ตครั้งนี้จึงตอบโจทย์คนทุกวัยอย่างแท้จริง และอยากเชิญชวนให้นิสิตเก่าจุฬาฯ นิสิตปัจจุบัน ที่สนใจเข้ามาแข่งขัน ROV -Chula Alumni Charity Tournament 2021 และติดตามการแข่งขันได้ทาง เพจ Chula Alumni และ Garena RoV Thailand กันนะครับ"
สำหรับชาวจุฬาฯ และผู้ที่สนใจสามารถสมัครแข่งขันได้ทางออนไลน์ เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ถึง 24 มีนาคม 2564 ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะต้องรวบรวมสมาชิกเป็นจำนวน 5 คน และสามารถมีตัวสำรองได้ 1 คน ทั้งนี้ โดยต้องมีชาวจุฬาฯ อย่างน้อย 3 คน พร้อมแนบหลักฐานการเป็นนิสิตจุฬาฯ และหลักฐานการร่วมบริจาคในโครงการวัคซีนเพื่อคนไทยประกอบการสมัครทางเว็บไซต์ www.chulaalumniesport.com
ประกาศสายการแข่งขัน
คณะกรรมการจะประกาศสายการแข่งขันในวันที่ 25 มีนาคม 2564 เวลา 18:00 น เป็นต้นไป ผ่าน Live บนเพจ Chula Alumni
กำหนดการแข่งขัน
* คัดเลือกรอบออนไลน์ ครั้งที่ 1-8 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม - 9 เมษายน 2564
* รอบ 4 ทีมสุดท้ายและรอบชิงชนะเลิศ วันที่ 24 เมษายน 2564 (แข่งขันระบบ Bo5) ณ การีนา สตูดิโอ และถ่ายทอดสด
* วัน เวลา และสถานที่จัดการแข่งขันอาจมีการเปลี่ยนแปลง ทีมผู้เข้าแข่งขันสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook เพจ Chula Alumni และ Garena RoV Tournament
รางวัลประจำรายการแข่งขัน
* รางวัลชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 50,000 บาทและคูปองจำนวน 25,000 คูปองต่อทีม
* รองชนะเลิศอันดับที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 25,000 บาทและคูปองจำนวน 15,000 คูปองต่อทีม
* รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ร่วม จะได้รับเงินรางวัล 10,000 บาทและคูปองจำนวน 10,000 คูปองต่อทีม
* อันดับที่ 5 - 8 จะได้รับคูปองจำนวน 5,000 คูปองต่อทีม
ที่มา: ไฮ-ไลค์ เอเจนซี่