"หอการค้าไทยเชื่อว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้จะเป็นการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกร ที่มักประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาดได้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ยังเป็นหนทางในการบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยสร้างช่องทางทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก และเชื่อมั่นว่า กลุ่มเซ็นทรัลจะเข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ Big Brother อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งนำเครื่องมือใหม่ ๆ มาช่วยเหลือ SME ได้มากยิ่งขึ้น" นายกลินท์ กล่าว
นางสุจิตา เพ็งอุ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ Large Format ผู้บริหารท็อปส์ และเซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่นที่ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ อีกทั้งขาดช่องทางการจำหน่ายเนื่องจากตลาดส่งออกยังไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ การร่วมมือกับหอการค้าไทย จึงเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 2 โดยร่วมระบายผลผลิตให้ออกสู่ตลาดโดยเร็วที่สุด ด้วยการรับซื้อตรงผัก ผลไม้จากเกษตรกรทั่วประเทศ นำเข้าช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทุกแพลตฟอร์มของท็อปส์และแฟมิลี่มาร์ท เพื่อให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคเป็นวงกว้าง รวดเร็ว ทั่วประเทศ พร้อมทั้งส่งทีมจัดซื้อประจำภูมิภาคร่วมสำรวจและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันท่วงทีตามการแนะนำเพิ่มเติมจากหอการค้าไทย
"ปีที่ผ่านมา เรารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าแปรรูปทั่วประเทศ จาก 1,170 ชุมชน จำนวน 9,000 รายการ ช่วยเหลือประชาชนได้มากกว่า 24,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ แม้ว่าประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดแต่บริษัทฯ ยังขยายความช่วยเหลือต่อไป ในปี 2564 จากความร่วมมือกับหอการค้าไทยและเครือข่ายในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านโครงการความร่วมมือเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ ทำให้ท็อปส์และแฟมิลี่มาร์ท สามารถขยายความช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มมากขึ้น ใน 14 จังหวัด อีกกว่า 1,800 ครัวเรือน เช่น รับซื้อแก้วมังกร ส้มเขียวหวาน จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนแพร่, ส้มโอทับทิมสยาม กลุ่มเกษตรกรบ้านแสงวิมานจ.นครศรีธรรมราช, มันแกวหวาน วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผักริมโขง, มะม่วงแรด จากวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก จ.ฉะเชิงเทรา, ชมพู่ทับทิบจันทร์ จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตชมพู่ทับทิบจันทร์ ดอนคา จ.ราชบุรี เป็นต้น" นางสุจิตา กล่าว
ด้าน นางสาวเมทินี พิศุทธิ์สินธพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ Small Format ผู้บริหารแฟมิลี่มาร์ท เปิดเผยว่า ในส่วนของแฟมิลี่มาร์ท แม้ว่าจะเป็นร้านค้าปลีกขนาดเล็ก แต่มีจุดแข็งคือจำนวนสาขาที่กระจายตัวในชุมชน ย่านการค้า อาคารสำนักงาน เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย จึงเป็นอีกช่องทางการจัดจำหน่ายที่จะช่วยเร่งระบายผลผลิตให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเน้นจำหน่ายผัก ผลไม้ตามฤดูกาลที่เป็นแพคเล็ก เช่น กล้วยหอม ส้มเขียวหวาน ส้มสายน้ำผึ้ง ลิ้นจี่ แตงกวา มะเขือเทศ ผักสลัด ผักบุ้ง มะนาว หอมใหญ่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี และพริก เป็นต้น และอำนวยความสะดวกในทุกช่วงเวลาเร่งรีบกับผลไม้พร้อมรับประทาน เช่น สับปะรด ส้มโอ แก้วมังกร เมล่อน นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสและสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยที่มีความสนใจ ต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย ซึ่งบริษัทฯ มีทีมจัดซื้อพี่เลี้ยงให้กับกลุ่ม SMEs ภายใต้โครงการ Big Brother ที่ดำเนินร่วมกับหอการค้าไทย เพื่อนำองค์ความรู้ ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจ SMEs เติบโตได้อย่างมั่นคง
นางสาวภาธิณี เลี้ยงหิรัญกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอีเว้นท์และประชาสัมพันธ์ บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด กล่าวว่า ไทวัสดุภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิต และเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้สินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมทั้งเป็นสื่อกลางนำสินค้ามาจัดจำหน่าย ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนมีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายในอนาคต ไทวัสดุยังคงมุ่งเน้นและตอกย้ำในการมีส่วนร่วมพัฒนาสินค้าชุมชนให้ยั่งยืนมากขึ้น โดยวางแผนในการเป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชนต่าง ๆ จัดหาพื้นที่ในการสร้างตลาดและช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับผู้ค้าได้ส่งผลิตภัณฑ์คุณภาพดีจากท้องถิ่นถึงมือลูกค้าได้สะดวกรวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น
ที่มา: หอการค้าไทย