นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ เผยว่า นับเป็นโอกาสดีที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับยางพาราของไทยได้ร่วมกันทบทวน ทำความเข้าใจ กำหนดแนวทางสำหรับพัฒนายางพาราเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยสิ่งสำคัญคือการสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างภาคส่วน เช่น ผู้ประกอบกิจการยางที่ถือเป็นผู้ซื้อยาง จะต้องสนับสนุนหรือมีแนวทางให้ผลประโยชน์หรือรายได้ตอบแทนที่ดีกว่าแก่เกษตรกรชาวสวนยางที่จัดการสวนยางผ่านมาตรฐานสวนยางยั่งยืน ซึ่งเป็นการทำสวนยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับ กยท. ที่เป็นองค์กรกำกับดูแลยางพาราตั้งแต่ระดับต้นน้ำ มีนโยบายให้ความรู้กับเกษตรกรในการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำยางและไม้ยาง อาจนำไปสู่การแบ่งปันผลกำไรจากการร่วมมือกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม เพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนทั้งภาคธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการพัฒนา BCG Model ของรัฐบาล ทั้งนี้ ในปี 2564 ของ กยท. กำหนดเป้าหมายเกษตรกรในพื้นที่ทั่วประเทศไทย รวม 18 จังหวัด มีสถาบันเกษตรกรเข้าร่วม 25 กลุ่ม โดยมีแผนสร้างตลาดเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ยางที่ผ่านการรับรองจากมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนด้วย
"จุดมุ่งหวังสำคัญ คือ การปรับภาพลักษณ์วัตถุดิบยางพาราของไทย ให้ผู้บริโภคทั่วโลกรับรู้ว่าการจัดการด้านยางพาราของไทยไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรรายย่อยมีรายได้ที่ยั่งยืน" รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวย้ำ
ด้าน นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เรื่อง COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของโลก ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจยางพาราต้องรวมพลังผลักดันการดำเนินการแปรรูปยางพาราให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อม โดยต้องไม่ทำลาย Ecosystem Services ซึ่งเป็นประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากการทำหน้าที่ของระบบนิเวศทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น WWF ประเทศไทยจึงร่วมกับ กยท. จัดประชุมระดมความคิด เรื่อง ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติที่ยังยืนในอนาคตของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเรียนรู้ห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการแสวงหาโอกาสที่ต้องเผชิญในอนาคตของถุงมือยางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ระดับ Hi-end สู่การพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจยางควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ
ที่มา: การยางแห่งประเทศไทย