ฟิทช์คงอันดับเครดิตสากลของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ 'BBB' คงอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทลูกที่ 'AA(tha)' และปรับอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำเป็น 'BBB'

จันทร์ ๒๙ มีนาคม ๒๐๒๑ ๑๕:๔๖
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ 'BBB' โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ปรับอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของธนาคารเป็น 'BBB' จาก 'BBB-' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด หรือ SCBS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ SCB ที่ 'AA(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

การคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศพิจารณาจากระดับของการรองรับความเสี่ยง ณ อันดับเครดิตปัจจุบัน (rating headroom) และแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นแม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย การปรับอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำเป็นผลมาจากที่ฟิทช์ได้ทบทวนโอกาสที่ทางการจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนต่อธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในประเทศไทย โดยความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาส่งผลให้เงินฝากไหลเข้าไปยังธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งซึ่งสนับสนุนมุมมองของฟิทช์ต่อระดับความสำคัญของธนาคารเหล่านี้ที่มีต่อระบบ การปรับอันดับเครดิตในครั้งนี้สอดคล้องกับวิธีที่ฟิทช์ใช้กับธนาคารอื่นๆที่มีขนาดใกล้เคียงกันในกลุ่มประเทศเอเชียที่เป็นตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ SCB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝากที่ 15% ณ สิ้นปี 2563

รายละเอียดอันดับเครดิตทั้งหมดได้แสดงไว้ในส่วนท้าย

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB พิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง (ซึ่งสะท้อนโดยอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน) ในขณะเดียวกันอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำช่วยจำกัดความเสี่ยงจากการถูกปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารในกรณีที่ความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารปรับตัวต่ำลง โดยที่ปัจจัยที่สนับสนุนอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำไม่ได้มีการปรับตัวลดลง นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB ยังรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ SCB ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นสะท้อนถึงการประเมินของฟิทช์ด้านโครงสร้างการระดมทุนและสภาพคล่องของธนาคารที่ระดับ 'bbb'

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันในฐานะหนึ่งในธนาคารชั้นนำของประเทศไทย SCB ดำเนินธุรกิจธนาคารแบบครบวงจรโดยมีความแข็งแกร่งทางการตลาดในหลายผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อรายย่อย บริการธุรกรรมทางการเงิน (transactional banking) และธุรกิจจัดการกองทุน อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินยังสะท้อนถึงแรงกดดันต่อกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาในปี 2563 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่คาดว่าจะค่อนข้างช้าในช่วงปี 2564-2565

ฟิทช์คาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพน่าจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2564 โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่มาตรการผ่อนปรนเริ่มจะหมดอายุลงและอาจจะเริ่มทรงตัวได้ในปี 2565 ธนาคารได้มีการตั้งค่าใช้จ่ายเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูงในปี 2562-2563 (โดยคิดเป็นสัดส่วนที่กว่า 50% ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญทั้ง 2 ปี) ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่าค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอยู่ในปี 2564-2565 เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในอดีต แนวโน้มของค่าใช้จ่ายหนี้สงสัยจะสูญจะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่ออัตรากำไรของธนาคารซึ่งอาจปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 แรงกดดันต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิน่าจะยังคงมีต่อเนื่องจากสภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำแต่อาจถูกลดทอนได้จากปริมาณธุรกิจที่น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้างในปี 2565 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ทั้งนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนในอัตราและทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม SCB ยังคงมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง ณ ระดับอันดับเครดิตปัจจุบัน ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ที่ 17.1% (ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารในกลุ่มเดียวกัน) และยังมีระดับอัตราสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 135% ณ สิ้นปี 2563 นอกจากนี้การระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ SCB ยังคงมีเสถียรภาพแม้ต้องเผชิญกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยและสัดส่วนบัญชีฝากกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์ที่สูง (ซึ่งคิดเป็น 77% ของเงินฝาก)

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) และ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ
ฟิทช์พิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ SCB จากการมองว่าธนาคารมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสสูงขึ้นที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ธนาคาร SCB มีประวัติยาวนานในฐานะหนึ่งในธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและได้รับการกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็น 1 ใน 5 ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบภายในประเทศ (D-SIB) ธนาคารมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของเงินฝากถึง 12.1% ในปี 2563 ซึ่งสะท้อนถึงฐานะการเป็นสถาบันการเงินที่มีความปลอดภัยรายหนึ่งในประเทศและเป็นหลักฐานสนับสนุนถึงความสำคัญของธนาคารต่อระบบ การพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของฟิทช์รวมถึงมุมมองว่าทางการไม่น่าจะมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมที่สนับสนุนให้มีการบังคับตัดหนี้สูญสำหรับเจ้าหนี้หรือผู้ถือตราสารไม่ด้อยสิทธิ (resolution framework)ในระยะยาว อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำยังสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของรัฐบาลไทยในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารซึ่งสะท้อนโดยอันดับเครดิตของประเทศที่ BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตบริษัทลูก

การประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBS สอดคล้องกับการคงอันดับเครดิตของธนาคารแม่ (ซึ่งคือ SCB) ฟิทช์มองว่า SCBS มีสถานะเป็นบริษัทลูกที่สำคัญในเชิงกลยุทธ์ต่อ SCB ซึ่งสะท้อนได้จากการใช้ชื่อและเครื่องหมายทางการค้าร่วมกัน การถือหุ้นทั้งหมดในบริษัทลูกของธนาคารแม่ และการผสานการดำเนินงานและบริหารงานกันอย่างใกล้ชิดมากกับธนาคารแม่ ทั้งนี้การจัดอันดับเครดิตในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของ SCB อยู่ 1 อันดับ สะท้อนถึงขนาดของธุรกิจที่เล็กของ SCBS ในฐานะที่เป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารและมีส่วนช่วยในการสร้างกำไรให้แก่กลุ่มที่ค่อนข้างจำกัด

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ SCB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ หรือ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการเปรับเพิ่มอันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB ยังได้รวมถึงการพิจารณาโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำพร้อมกันจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน อันดับเครดิตภายในประเทศอาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'AA(tha)' หากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นในประเทศ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต - อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ SCB อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+' หากอัตราส่วนด้านผลกำไรและด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารปรับตัวดีขึ้นมาสอดคล้องกับธนาคารอื่นที่มีอันดับเครดิตสูงกว่าและอยู่ในสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่คล้ายกัน ในกรณีที่จะมีการปรับอันดับเครดิตเพิ่มสูงขึ้น ฟิทช์มองว่าเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของธนาคารและการดำเนินธุรกิจตามกลยุทธ์ด้วยความสำเร็จน่าจะช่วยส่งเสริมให้ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าภาคการธนาคารโดยรวมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่น อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ปรับตัวสูงกว่า 2.5% (2563: 1.5%) และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ต่ำกว่า 3% (2563: 4.5%) โดยที่ยังคงความสามารถในการรองรับความเสี่ยง เช่น การมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่สูงกว่า 16%

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับความแข็งแกร่งของ SCB อาจได้รับการปรับลดอันดับเป็น 'bbb-' หากฐานะเงินกองทุนของธนาคารปรับตัวด้อยลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าคาดการณ์ของฟิทช์อย่างมากซึ่งสะท้อนได้โดยการปรับลดคะแนนอย่างมีนัยสำคัญสำหรับปัจจัยในการพิจารณาอันดับเครดิตหลายๆปัจจัย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวแย่ลงอย่างมาก เช่น การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมสูงกว่า 6% และมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่ด้อยลง เช่น มีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของที่ต่ำกว่า 13 % รวมทั้งอัตราส่วนสำรองหนี้เสียต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพต่ำกว่า 120% (2563: 135.3%)

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต - อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย อาจบ่งชี้ได้ว่ารัฐบาลมีความสามารถเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนธนาคารในประเทศ (รวมถึง SCB) อย่างไรก็ตามการพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำต้องคำนึงถึงการที่โอกาสในการให้การสนับสนุนธนาคารว่าจะยังคงอยู่ในระดับเดิม หากอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ SCB ก็ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับเครดิตสนับสนุนและอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำอาจถูกปรับลดอันดับหากฟิทช์เชื่อว่าความสามารถที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารนั้นลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยถูกปรับลดอันดับ นอกจากนี้การปรับลดอันดับเครดิตยังอาจเกิดขึ้นได้หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ SCB ลดลง เช่น จากการลดลงของระดับความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบอย่างมีนัยสำคัญ หรือการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่ทางการจะลดโอกาสการให้ความช่วยเหลือแก่ธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเช่น SCB ในระยะปานกลาง

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต - อันดับเครดิตบริษัทลูกและบริษัทย่อย

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCB จะส่งผลกระทบในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBS นอกจากนี้ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCBS หาก SCB แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการให้การสนับสนุนแก่บริษัทลูกที่เพิ่มขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นหาก SCBS มีนัยสำคัญมากขึ้นต่อธุรกิจของ SCB

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCB น่าจะส่งผลในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของ SCBS นอกจากนี้อันดับเครดิตของ SCBS อาจถูกปรับลดอันดับได้หากโอกาสที่ SCB จะให้การสนับสนุนแก่ SCBS ปรับตัวลดลง เช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นและการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่คาดว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนจะมีการเปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SCBS มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของ SCB

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
SCB:

  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ 'BBB'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ 'F3'
  • อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ 'bbb'
  • อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ '2'
  • อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ปรับเป็น 'BBB' จาก 'BBB-'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA+(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'
  • อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'BBB'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'AA+(tha)'
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

SCBS:

  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ 'AA(tha)'; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
  • อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ 'F1+(tha)'

ที่มา: ฟิทช์ เรทติ้งส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version